การส่งเสริมความเข้มแข็งภาคประชาชนด้านการเมืองการบริหาร


การส่งเสริมความเข้มแข็งภาคประชาชนด้านการเมืองการบริหาร :
การพิจารณานโยบายในประเด็นเชิงนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์
Promotion of Strengthening People in Politics and Administration: Considering the Policies Issues, Law and Political Sciences
Keyword: Strengthening People; ความเข้มแข็งภาคประชาชน
Political Administration; การเมืองการบริหาร
Sufficiency Economy; เศรษฐกิจพอเพียง
Political Virtue; จริยธรรมและคุณธรรมทางการเมือง
Networking processes; กระบวนการเครือข่าย
ศุภวัฒน์  ปภัสสรากาญจน์
             หลักสูตร รัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต
        บทความนี้ปรับปรุงจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกสาขาพัฒนบูรณาการศาสตร์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเรื่อง “การพัฒนาท้องถิ่นไทยตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงด้านการเมืองและการบริหาร: กรณีศึกษาการส่งเสริมความเข้มแข็งภาคประชาชนของจังหวัดยโสธร”
SUPWAT   PAPASSARAKAN
PUBLIC ADMINISTRATION, FACULTY OF HUMANITEIS AND SOCIAL SCIENCE, SUAN DUSIT RAJABHAT UNIVERSITY
This article adapted from Ph.D., dissertation, Integral Administrative science, Ubonrachatanee University entitled “Local Development Following Sufficiency Economy Approach in Politics and Administration: Case Study on Promotion of Strengthening People, Yasothon Province, Thailand”
บทคัดย่อ                               
ทัศนะต่อข้อกำหนดนโยบายในการสร้างความเข้มแข็งภาคประชาชนด้านการเมืองและการบริหาร ทั้งเชิงรัฐศาสตร์และเชิงนิติศาสตร์ แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของสองแนวคิดที่มาจากนโยบายพัฒนาการเมืองและนโยบายที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมืองการบริหารจัดการโดยภาคประชาชน ซึ่งจะทำให้เกิดกระบวนการบูรณาการการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม จัดการตนเองของภาคประชาชนเข้าไว้ด้วยกันภายใต้ข้อกำหนดของกฎหมายรัฐธรรมนูญและนโยบายเฉพาะซึ่งได้แก่ กฎหมายสภาพัฒนาการเมือง แผนพัฒนาการเมืองและกฎหมายสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ซึ่งจะทำให้กลุ่ม/องค์กรประชาชน ที่ได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการและได้รับสิทธิตามกฎหมายสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมโดยระบบตัวแทนและสามารถลดช่องว่างในประเด็นการรับรองสิทธิขององค์กรภาคประชาชนที่ไม่ได้รับการรับรองสิทธิภายใต้กฎหมายพัฒนาการเมืองได้พอสมควร การประสานกันของสองนโยบายจะมีผลที่เอื้อต่อการส่งเสริมความเข้มแข็งภาคประชาชนในประเด็นดังกล่าว อย่างไรก็ตามการสร้างความเข้มแข็งภาคประชาชนยังมีข้อจำกัดด้านกฎหมายที่ยังไม่กว้างพอและหลักรัฐศาสตร์ยังไม่สามารถปฏิบัติได้จริง เนื่องจากปัญหาจริยธรรม คุณธรรมทางการเมืองและคุณธรรมด้านการบริหารจัดการ
Abstract
Attitude towards policy on strengthening people in term of politics and administration on law and political science show relationship of two ideas resulting from political development policy and policy that emphasize socio-economic and people’s self management, which,  in turn, resulting in an integration process of participation in politics, socioeconomic and self-management under the provision of constitution and specific laws, including political development council law, political development plan and law on community institution development. As a result, people’s groups and organizations formally recognized and entitled to legally access to participation via representatives which, in turn, considerably help closing the gap for those who otherwise formally unrecognized of their right under the provision of political development law.  Hence the combination of these two policies has an impact on the aforesaid strengthening people promotion. However, the above promotion of strengthening people is quit limited, both in terms of legal coverage as well as political science principle which is still far from practicality due to political and administrative problems on virtue ethic of management.


การพิจารณา กฎหมาย ระเบียบ ถ้อยแถลงที่แสดงเจตนารมณ์ของรัฐบาล พระราชบัญญัติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับความเข้มแข็งภาคประชาชน ซึ่งถือเป็นนโยบายของรัฐบาลกลางที่มีความสัมพันธ์กับนโยบายที่กำหนดใช้ในท้องถิ่นโดยรัฐบาลท้องถิ่น ยังคงมีอุปสรรคและปัญหาที่ต้องค้นหา ทั้งนี้ การพิจารณามีจุดประสงค์เพื่อการเสนอแนะและเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาของนโยบายข้างต้น   
1. การพิจารณานโยบายรัฐบาลในเชิงนิติศาสตร์
แนวความคิดต่อนโยบายส่งเสริมความเข้มแข็งภาคประชาชนในเชิงนิติศาสตร์ คือการพัฒนาแนวความคิดหลักกฎหมายและการจัดระบบกลไกและองค์กรร่วมเพียงหนึ่งเดียว แล้วจัดวางไว้ในโครงสร้างความสัมพันธ์ทั้งในสังคมชนบทและสังคมเมืองซึ่งมีความแตกต่างกัน อีกทั้งยังมีความแตกต่างกันของสังคมชนบทด้วยกันเอง ด้านเศรษฐกิจ สังคม อุดมการณ์ ความเชื่อ ประเพณี วัฒนธรรม การจัดองค์ความรู้หรือภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งหลักกฎหมายดังกล่าวอาจมีความขัดแย้งต่อสังคมนั้นๆ
ทัศนะของนักนิติศาสตร์ที่ว่า กฎหมายเป็นสิ่งที่มีความเป็นเอกภาพ เป็นหนึ่งเดียวกันและมีผลบังคับใช้เหมือนๆกัน กฎหมายคือรูปธรรมที่สามารถเห็นได้ จับต้องได้ในรูปแบบประมวลกฎหมาย ระบบกระบวนการยุติธรรม ทำให้ลักษณะดังกล่าว สอดคล้องต่อการจัดระบบราชการแบบรวมศูนย์ เกิดความเชื่อที่ว่า กฎหมายโดยเฉพาะกฎหมายรัฐธรรมนูญมีความศักดิ์สิทธิ์และแตะต้องไม่ได้ ประการสำคัญคือ การทำให้เกิดความเชื่อในอำนาจของตัวบุคคลและปฏิเสธระบบกฎหมาย นำไปสู่การกระทำผิดในรูปแบบต่างๆรวมถึงการคอรัปชั่นในภาครัฐ หรือกล่าวได้อีกนัยหนึ่งคือความไร้คุณธรรมและจริยธรรมทั้งภาครัฐและภาคพลเมือง ดังนั้นปัญหาของกฎหมายในเชิงนิติศาสตร์ คือความไม่ยืดหยุ่นจนไม่สามารถนำไปประยุกต์ให้สอดคล้องต่อบริบทของความหลากหลายทางสังคมที่มีอยู่สูง การแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงต้องนำประเด็นเชิงรัฐศาสตร์มาพิจารณาควบคู่กันไป แต่ในทางตรงกันข้าม หากนำประเด็นเชิงรัฐศาสตร์มาพิจารณาและนำมาปฏิบัติใช้แต่เพียงอย่างเดียวก็จะเกิดความเลื่อนลอย เนื่องจากไม่มีหลักเกณฑ์มารองรับ เพราะการพิจารณาในประเด็นรัฐศาสตร์จะเกี่ยวข้องกับอำนาจหรือเสียงข้างมาก ระบบตัวแทน การแสดงความคิดเห็นมากกว่าหลักเกณฑ์ของกฎหมาย  ด้วยเหตุผลข้างต้น นักกฎหมาย นักนิติศาสตร์และกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ รวมถึงกลไกทางการเมืองจำเป็นต้องพิจารณาปรับปรุงกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมตลอดเวลาเช่น การเปิดรับฟังความคิดเห็น การมีคณะกรรมการเฉพาะกิจในการศึกษาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แล้วมีกฎหมายรองรับให้หน่วยงานต้องผูกพันตามกฎหมาย การมีคณะกรรมการถาวรทำหน้าที่ในการติดตามศึกษาเพื่อเสนอให้มีการแก้ไขปรับปรุง กฎหมาย รวมถึงศึกษาผลกระทบจากการใช้กฎหมายฉบับต่างๆเป็นต้น(ไพสิฐ พาณิชยกุล. 2544: Web Site)
ประเด็นเชิงนิติศาสตร์อีกประเด็นหนึ่งคือ ความเป็นธรรมในภาคประชาสังคม เนื่องจากมีแนวความคิดที่ว่า กระบวนการยุติธรรมคือ กระบวนการสร้างความเป็นธรรมพื่อนำไปสู่การแก้ไขข้อพิพาทต่างๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า การแก้ไขข้อพิพาท ต้องยุติด้วยกระบวนการภายใต้ระบบของศาลยุติธรรมเท่านั้น (ไพสิฐ พาณิชยกุล. 2544: Web Site)
ทัศนะข้างต้นไม่เห็นด้วยกับการสร้างระบบเพื่อนำไปสู่การมีกฎหมาย แต่เน้นการใช้สังคมเป็นฐานในการสร้างกฎหมายแทนการที่องค์กรทางการเมืองเช่น สภานิติบัญญัติ วุฒิสภาและการตัดสินใจในทางกฎหมายของฝ่ายบริหาร แนวคิดนี้เชื่อว่า การเมืองภาคประชาชนจะสามารถทำให้เกิดระบบการเมืองและระบบกฎหมายที่ตั้งอยู่บนความเป็นธรรมในสังคม ทั้งยังเสนอให้เปลี่ยนทัศนะและวิธีการอธิบายปรากฏการณ์เสียใหม่ที่ว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดซึ่งกฎหมายใดๆและองค์กรที่ใช้อำนาจตามกฎหมายจะขัดต่อรัฐธรรมนูญไม่ได้ มาเป็นทัศนะที่ว่า กฎหมายรัฐธรรมนูญต้องสามารถแก้ไขให้สอดคล้องต่อการพัฒนาการเมือง อันหมายถึงการพัฒนาไปสู่ความสามารถในการใช้อำนาจของประชาชนภายใต้หลักสิทธิเสรีภาพอันเป็นหลักสากล
มีการนำเสนอประเด็นการเมืองภาคประชาชนจากวิธีคิดแบบกระแสหลักไปสู่วิธีคิดแบบใหม่สี่ประเด็นด้วยกัน(ไพสิฐ พาณิชยกุล: www. geocities.com/midnightuniv) ประเด็นแรกคือ การใช้สิทธิเสรีภาพทางตรงหรือเรียกว่าประชาธิปไตยทางตรง เช่น ภาคประชาชนใช้สิทธิในการเสนอกฎหมาย การใช้สิทธิในการถอดถอนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารระดับสูง ประเด็นที่สอง คือประชาธิปไตยแบบตัวแทน หมายถึงการที่ประชาชนสามารถเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองให้การสนับสนุนพรรคหรือผู้สมัคร การไปใช้สิทธิเลือกตั้ง การสมัครรับเลือกตั้ง ประเด็นที่สามคือ การที่ประชาชนเข้าร่วมหรือเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบการจัดการชุมชนท้องถิ่นโดยการดึงเอากลุ่มที่ไม่เป็นทางการ อันเป็นกลุ่มที่อยู่นอกโครงสร้างองค์กรทางการเมืองที่กำหนดไว้ โดยกฎหมายเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่น ประเด็นสุดท้าย ขบวนการเคลื่อนไหวใหม่ในทางสังคม  เป็นความเคลื่อนไหวที่เกิดจากแรงกดดันในด้านต่างๆ และเป็นการเคลื่อนไหวที่เป็นปฏิกิริยาตอบสนองต่อสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นต่อการดำเนินวิถีชีวิตและพยายามที่จะพัฒนาแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่างๆ
การพิจารณาในประเด็นเชิงนิติศาสตร์ สะท้อนถึงปัจจัยที่มีผลต่อการสร้างความเข้มแข็งภาคประชาชนหลายด้าน โดยเฉพาะในบริบทด้านระบบและองค์กรราชการ ในที่นี้หมายรวมถึงการบริหารหรือการนำนโยบายไปปฏิบัติ แนวความคิดดังกล่าวชี้ให้เห็นถึงปัจจัยที่สามารถนำไปพิจารณาว่า นโยบายจากส่วนกลางเอื้อหรือไม่เอื้อต่อการส่งเสริมความเข้มแข็งภาคประชาชนอย่างไร
ประการแรก ความเหมาะสมของกฎหมายที่ใช้ในแต่ละพื้นที่ของท้องถิ่นซึ่งมีความแตกต่างกันในด้านเศรษฐกิจ สังคม วิถีวัฒนธรรม ประเพณี ค่านิยม ทัศนคติ และในท้ายที่สุดกฎหมายต่างๆจะไม่ตกเป็นเครื่องมือของระบบราชการและการเมืองที่พยายามจะรักษาอำนาจของตนในท้องถิ่นและชนบทไว้ ประเด็นนี้สามารถพิจารณาจากข้อขัดแย้งระหว่างหน่วยงานองค์กรราชการและขบวนการเคลื่อนไหวในกลุ่มที่ไม่เป็นทางการหรือการเมืองภาคประชาชน  
ประการที่สอง กฎหมายซึ่งเป็นกลไกที่ภาคประชาชนสามารถนำไปใช้เพื่อเป็นช่องทางเข้าไปมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น การมีส่วนร่วมผลักดันเพื่อแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งและการกำหนดนโยบายสนองตอบความต้องการของตน โดยเฉพาะกฎหมายและนโยบายเชิงปฏิบัติที่กำหนดตามข้อกำหนดในกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือว่าเป็นกฎหมายแม่ ทั้งนี้สามารถพิจารณาได้จากจำนวนการใช้สิทธิข้างต้นภายใต้กฎหมายและจำนวนผลสำเร็จของการใช้สิทธิดังกล่าว
ประการที่สาม ทั้งสองประเด็นข้างต้นมีความสัมพันธ์กับบริบทขององค์กรราชการ หน่วยงานราชการและระบบการเมืองในท้องถิ่นและชนบท ซึ่งได้นำนโยบายและกฎหมายมาใช้เป็นกลไกในการบริหารราชการเพื่อการพัฒนา โดยพิจารณาจากวิธีการบริหารงานพัฒนาด้านการส่งเสริมความเข้มแข็งภาคประชาชนว่า มีรูปแบบการบริหารเป็นแบบรวมศูนย์หรือไม่ ทั้งนี้การรวมศูนย์อำนาจจะเป็นการรวมศูนย์อำนาจทางการบริหารและระบบการเมืองในท้องถิ่น การรวมศูนย์ยิ่งมีมากเท่าใดจะทำให้เกิดความล้มเหลวและมีปัญหาข้อพิพาทมากขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะในประเด็นที่เป็นปัจจัยด้านสิทธิการมีส่วนร่วมนั้นจะได้รับการกลั่นกรองการใช้สิทธิดังกล่าวของระบบการเมืองและระบบราชการในขั้นตอนสุดท้าย
ประการที่สี่ รูปแบบของกระบวนการนโยบายและกฎ  หมายส่งเสริมความเข้มแข็งภาคประชาชนโดยใช้สังคมเป็นฐาน เพื่อให้สังคมสร้างระบบการเมืองและระบบกฎหมายจะมีความ สัมพันธ์กับปัจจัยทั้งสามประการข้างต้น ทั้งนี้ ปัจจัยทั้งหมดดังกล่าว จะมีอิทธิพลซึ่งกันและกัน ในที่นี้หมายถึงการใช้สังคมเป็นฐานเพื่อสร้างระบบกฎหมาย นโยบายและระบบกฎหมายจะต้องมีรูปแบบการนำนโยบาย กฎหมายไปปฏิบัติแบบรวมศูนย์น้อยที่สุด นัยหนึ่งคือการลดบทบาทของภาครัฐลง  มีความเหมาะสมของกฎหมายต่อสภาพพื้นที่ของชุมชน ท้องถิ่นและชนบท อันเป็นการยอมรับและเข้าใจในความมีอยู่จริงของชุมชน การทำให้เกิดความเข้าใจในสิทธิของภาคประชาชนซึ่งจะมีความสัมพันธ์กับปัจจัยในในประการที่ห้า  
ประการที่ห้า การปรากฏรูปแบบการใช้สิทธิทางการเมืองเช่น สิทธิทางตรง สิทธิตามวิถีทางในรูปแบบประชาธิปไตยแบบตัว แทน การปรากฏตัวของขบวนการเคลื่อนไหวในทางสังคม และปรากฏการณ์ของการพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อแพร่ขยายองค์ความรู้และการรับรู้รวมถึงการมีสื่อเป็นของชุมชนเอง เป็นปรากฏการณ์ที่บ่งชี้ว่าประชาชนเข้าใจถึงสิทธิของตนเองในระดับหนึ่ง  
2. นโยบายรัฐบาลในประเด็นเชิงรัฐศาสตร์
ประเด็นเชิงรัฐศาสตร์ที่น่าสนใจคือ ความสัมพันธ์ระหว่างสัญญาประชาคมกับสิทธิมนุษยชน สัญญาประชาคมเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องระหว่างประชาชนหรือชุมชนกับรัฐในฐานะตัวแทนที่เป็นทางการ เป็นการไว้วางใจซึ่งกันและกัน เป็นข้อผูกพันหรือพันธกรณีของนักการเมืองซึ่งไม่เพียงประกอบด้วยหน้าที่ต่างๆ ที่จะต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต แต่ยังหมายรวมถึงหน้าที่ความชำนาญและความสามารถในการจัดการบริหารประเทศและประชาชน (สมเกียรติ ตั้งมโน. 2551: Web Site) หลักการสัญญาประชาคมเป็นความสัมพันธ์ในเชิงไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างรัฐกับประชาชน รัฐสามารถควบคุมประชาชนในเชิงอำนาจ และประชาชนสามารถมีสิทธิในการใช้อำนาจของตนในการเพิกถอนรัฐบาล ซึ่งประชาชนเท่านั้นที่มีอำนาจล้มล้างรัฐบาล ความสัมพันธ์ระหว่างสัญญาประชาคมกับสิทธิมนุษยชน จึงเป็นความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชนและ/หรือชุมชน ซึ่งประชาชนย่อมมีสิทธิในอำนาจของตน อันเป็นสิทธิที่ต้องให้ความเคารพ บนรากฐานของผลประโยชน์ส่วนตัว แบ่งเป็น สิทธิพลเมือง(Civil Right) สิทธิทางการเมือง (Political Right) สิทธิทางเศรษฐกิจ (Economic Right) และสิทธิทางสังคมวัฒนธรรม(Social and Cultural Right) การอ้างถึงหลักนิติธรรม (Rule of Law) หรือหลักบังคับแห่งกฎหมายตามประเด็นในเชิงรัฐศาสตร์ถือว่าเป็นลักษณะทั่วไปของกฎหมายโดยเฉพาะกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพื่อให้รู้สึกถึงความมีน้ำหนักในประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะประเด็นการประกันสิทธิเสรีภาพจากการละเมิดของผู้ปกครอง และการพิจารณาถึงความมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่พึงได้รับการคุ้มครอง อย่างไรก็ตาม ในทางการเมือง มีการนำข้อเสนอประเด็นต่างๆเช่น สิทธิเสรีภาพของประชาชน สิทธิชุมชน สิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบายสาธารณะ สิทธิในการรวมตัวของประชาชน การกระจายอำนาจ การตรวจสอบอำนาจรัฐและอื่นๆที่ภาครัฐไทยพยายามแสดงให้เห็นว่า กฎหมายรัฐธรรมนูญอันกฎหมายสูงสุดและเป็นกฎหมายที่ศักดิ์สิทธิ์ ถูกกำหนดขึ้นจากรากฐานของสังคม
ข้อเสนอที่ได้จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ของเอก ตั้งทรัพย์วัฒนาและคณะ(2550: Web Site) นำไปสู่การปรับปรุงรัฐธรรมนูญปี 2550 ฉบับร่าง จะเห็นได้จากเมื่อเปรียบเทียบข้อสรุปของการสำรวจความคิดเห็นและรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้ในพระราชกิจจานุเบกษา (เล่มที่ 124/ ตอนที่ 47 ก/หน้า1/24 สิงหาคม 2550) หมวดที่ 3ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ได้ปรับปรุงแก้ไขตามความคิดเห็นดังกล่าวที่ว่า “ บุคคลมีสิทธิได้รับความคุ้มครองโดยรัฐ จากการใช้ความรุนแรงและการปฏิบัติอันไม่เป็นธรรมจากรัฐและเอกชน” ในมาตรา 32 ส่วนที่ 12 ว่าด้วยสิทธิชุมชนได้เพิ่มประเด็นผลกระทบทางด้านสังคม วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ และสาธารณสุขของชุมชนตามข้อคิดเห็นของประชาชน นอกจากนี้ยังเพิ่มการมีอำนาจร่วมในการตัดสินใจในกระบวนการกำหนดนโยบายหรือโครงการ การดำเนินการนโยบายหรือโครงการ และการประเมินผลของนโยบายหรือโครงการทั้งของรัฐและของเอกชนที่กระทบต่อชุมชนไว้ด้วย
ข้อเสนอในประเด็นการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบายสาธารณะที่ประชาชนมีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อแสวงหาทางเลือกในกรณีที่นโยบายนั้นมีผลกระทบต่อวิถีชีวิต และความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่นั้นๆ การมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะในที่นี้ หมายรวมถึง การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง การออกกฎหมาย การตัดสินใจทางการเมือง การกำหนดนโยบายและการดำเนินโครงการและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับประชาชน นอกจากนั้น ยังมีข้อเสนอในประเด็นการมีกลไกอิสระ เพื่อตรวจสอบผลกระทบที่เกิดจากนโยบายของรัฐ การให้การสนับสนุนในด้านงบประมาณ สนับสนุนด้านข่าวสารที่จำเป็นในการเข้าไปมีส่วนร่วมและต้องการให้มีความชัดเจนในการบัญญัติกลไกที่ใช้ดำเนินงานดังกล่าว
การพิจารณาในแง่มุมเชิงนิติศาสตร์และเชิงรัฐศาสตร์พบว่า นโยบายรัฐบาลกลางโดยเฉพาะในด้านการรับรองสิทธิภาคประชาชนทางการเมืองการบริหารเพื่อเอื้อต่อการดำเนินกิจกรรมดังกล่าว แม้ว่ายังคงมีลักษณะในการกำหนดวิธีการบริหารงานราชการแผ่นดินแบบรวมศูนย์ แต่หากพิจารณาอีกด้านหนึ่ง มีแนวโน้มในอนาคตที่จะมีการลดทอนอำนาจของรัฐบาลกลางลงไปเป็นผู้กำกับดูแลและให้การสนับสนุนแต่เพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับข้ออ้างที่ว่า ภาคประชาชนมีความพร้อมและมีความเข้มแข็งมากพอหรือไม่
3. นโยบายของรัฐบาลและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ถ้อยแถลงของรัฐบาลชั่วคราวของนายกรัฐมนตรี สุรยุทธ์ จุลานนท์เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2549 ต่อสภานิติบัญญัติ ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาการเมืองด้วยการสร้างระบบคุณธรรมจริยธรรมทางการเมืองและการบริหารเพื่อสะท้อนความต้องการของประชาชน โดยเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนซึ่งรูปธรรมที่ปรากฏคือ การมีส่วนร่วมของประชาชนในการร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 แม้ว่ายังคงมีข้อโต้แย้งว่า รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวยังคงมีข้อบกพร่องอยู่มาก แต่ทั้งนี้ในถ้อยแถลง ได้นำเสนอปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ (ประชาไท. 2549: Web Site) แม้ว่าในทางปฏิบัติ แนวทางดังกล่าวยังไม่มีการเคลื่อนไหวมากนักโดยเฉพาะในองค์กรภาครัฐ ทำให้แนวทางและนโยบายดังกล่าวยังคงเป็นเพียงลายลักษณ์อักษรโดยยังไม่ก่อให้เกิดผลใดๆในทางปฏิบัติ แต่อย่างไรก็ตาม แนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ยังคงนำเสนอแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงต่อเนื่องจากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 (ซึ่งเน้นกระบวนทรรศน์การพัฒนาแบบบูรณาการป็นองค์รวมที่มีคนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา) โดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางควบคู่ไปกับการพัฒนาแบบบูรณาการเป็นองค์รวมที่ยึดคนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา มุ่งพัฒนาสู่ “สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน (Green and Happiness Society) คนไทยมีคุณธรรมนำความรอบรู้ รู้เท่าทันโลก  ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง  สังคมสันติสุข เศรษฐกิจมีคุณภาพ เสถียรภาพและเป็นธรรม สิ่งแวดล้อมมีคุณภาพและทรัพยากรธรรมชาติยั่งยืน  อยู่ภายใต้ระบบบริหารจัดการประเทศที่มีธรรมาภิบาล ดำรงไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และอยู่ในประชาคมโลกได้อย่างมีศักดิ์ศรี...” ภายใต้แนวทางปฏิบัติตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 2550 - 2554) หากพิจารณาแนวนโยบายข้างต้น จะเห็นข้อดีของข้อความที่กำหนดไว้เป็นวิสัยทัศน์ซึ่งมีลักษณะไม่แยกส่วนต่างๆอันได้แก่ เศรษฐกิจและสังคมรวมถึงการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติออกจากกัน เป็นการแสดงถึงแนวคิดในการบริหารจัดการโดยเชื่อมโยงลักษณะต่างๆเข้าด้วยกัน ทั้งยังมีเนื้อหาที่ให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมบทบาทของประชาชนในการเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการสิ่งต่างๆข้างต้น ด้วยการเน้นการสร้างคุณธรรมและจริยธรรม ทั้งภาคประชาชนและภาครัฐบาล
แนวนโยบายการพัฒนาฯ ซึ่งมีเนื้อหาที่ไม่ได้แยกส่วนด้านการเมืองการบริหารออกจากการพัฒนาด้านอื่นๆ เห็นว่า กลไกทางการเมืองการบริหารเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้เกิดความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการพัฒนา โดยคำนึงถึงการปรับปรุงคุณภาพชีวิตด้วยการสร้างค่านิยมเศรษฐกิจพอเพียงที่ใช้ลักษณะสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์และลักษณะของวัฒนธรรมมาเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน จะเห็นว่าแผนพัฒนาฯ เน้นสิทธิที่ได้รับการรับรองจากกฎหมายสูงสุดเอาไว้ด้วย อย่างไรก็ตาม ความสำคัญในการพัฒนาตามแนวคิดจากนโยบายดังกล่าว พิจารณาให้บริบทแวดล้อมด้านการเมืองและการบริหารเป็นเพียงกลไกที่นำไปสู่ความเสมอภาคในการกระจายผลประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและทรัพยากร สิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างสมดุลในการพัฒนา  เป็นการยึดโยงนโยบายในระดับสูงซึ่งก็คือกฎหมายรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดให้มีความสอดคล้องกัน ทำให้แนวทางการส่งเสริมความเข้มแข็งภาคประชาชนด้านการเมืองการบริหารจัดการมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น แม้ว่าในทางปฏิบัติแนวนโยบายการ พัฒนาฯ ดังกล่าว ยังไม่มีความเป็นรูปธรรมนัก แต่การพิจารณาในประเด็นเชิงนิติศาสตร์และเชิงรัฐศาสตร์ข้างต้น ได้พยายามชี้ให้เห็นปัจจัยที่เอื้อในด้านการรับรองสิทธิของนโยบาย ประเด็นต่อมาของแผนพัฒนาฯ คือการนำไปสู่การกำหนดสาระของแนวทางปฏิบัติในเชิงยุทธศาสตร์การพัฒนาความเข้มแข็งภาคประชาชนด้านการเมืองการบริหารจัดการที่พยายามนำเสนอเนื้อหาสาระให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น จะพบว่า สาระของแนวทางปฏิบัติดังกล่าว เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นถึงลักษณะที่จะมีผลต่อความเข้มแข็งภาคประชาชนด้านการเมืองการบริหารจัดการในด้านบวก แม้ว่าในทางปฏิบัติยังไม่ได้เกิดผลใดๆขึ้นก็ตาม ซึ่งถือว่าเป็นความล้มเหลวที่เกิดจากบริบทของท้องถิ่นและชุมชนที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยกฎหมาย แต่ควรเน้นการนำนโยบายไปปฏิบัติตามลักษณะของความแตกต่างกันตามบริบทดังกล่าว ดังนั้น นโยบายหรือกฎหมายที่จะสนับสนุนความเข้มแข็งภาคประชาชนจึงควรกำหนดไว้กว้างๆสามารถนำไปประยุกต์ได้อย่างหลากหลายและเน้นการส่งเสริมมากกว่าการควบคุม     
4. แผนพัฒนาการเมืองและพระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเมือง
วัตถุประสงค์หลักของแผนพัฒนาการเมืองคือ การวางรากฐานทางการเมือง เสริมสร้างหลักนิติธรรมในการบริหารราชการแผ่นดิน เพิ่มประสิทธิภาพขององค์กรนิติบัญญัติ องค์กรบริหารและตุลาการ โดยเฉพาะแผนพัฒนาการเมืองจะเป็นกลไกในการชักนำบุคลากรที่มีศักยภาพเสริมสร้างภาวะผู้นำที่มีคุณธรรมและจริยธรรมเข้าสู่ระบบการเมือง ทั้งนี้ แผนพัฒนาการเมืองมีเป้าหมายในการสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยแบบธรรมรัฐและความมีศักดิ์ศรีของนักการเมือง สามารถสนองตอบต่อประชาชนได้อย่างแท้จริง โดยสร้างยุทธศาสตร์ของการพัฒนาเป็นสี่องค์ประกอบคือ 1) การสร้างจิตสำนึกการมีส่วนร่วมทางการเมืองภายใต้วัฒนธรรมประชาธิปไตยแบบธรรมาภิบาล 2) สร้างผู้นำที่มีคุณธรรม มีความสามารถและความรับผิดชอบต่อประชาชน 3) สร้างระบบตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่มีประสิทธิภาพและมีความเป็นอิสระ 4) พัฒนาพรรคการเมืองที่เข้มแข็งและเป็นพรรคของประชาชน
พระราชบัญญัติกำหนดให้สภาพัฒนาการเมืองมีหน้าที่ในการพัฒนาการเมืองและมีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำแผนพัฒนาการเมืองทั้งแผนประจำปี แผนงบประมาณ การติดตามประสาน งานกับองค์กรหน่วยงานราชการ องค์กรประชาชนและหน่วยงานอื่นๆ  การติดตามประเมินผล จัดทำรายงาน เผยแพร่ส่งเสริมจิตสำนึกด้านสิทธิ สนับสนุนการใช้สิทธิขององค์กรประชาชน การรับทราบข่าวสาร ร่วมมือกับสภาองค์กรชุมชนและกำกับดูแลการบริหารโดยทั่วไป 
ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ การแจ้งจดทะเบียนการจัดตั้งองค์กรประชาชนตามพระราชบัญญัตินี้ทำให้องค์กรดั้งเดิมและองค์กรอื่นๆที่ไม่ต้องการหรือไม่มีความพร้อมในการจดทะเบียน จะไม่มีสิทธิในการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองได้ ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งคือ การเข้าจดทะเบียนขององค์กรประชาชนสามารถนำไปสู่การสร้างฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผู้นำองค์กรและกิจกรรมการดำเนินงานของกลุ่มและองค์กร ซึ่งภาครัฐและฝ่ายการเมืองสามารถนำไปใช้ประโยชน์เพื่อดำเนินการใดๆกับองค์กรภาคประชาชนนั้นได้ ไม่ว่าจะเป็นการสกัดกั้นการมีส่วนร่วมทางการเมือง การปราบปรามการชุมชุมเรียกร้องและการผลักดันในสิ่งที่ภาครัฐหรือฝ่ายการเมืองคิดว่าไม่เกิดผลดีและขัดแย้งกับผล ประโยชน์ของตน หรืออาจจะนำไปใช้เป็นกลไกในการสร้างฐานคะแนนเสียงและนำไปใช้เป็นกลไกในการผลักดันเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองให้แก่พรรคหรือนักการเมืองและกลไกในการดำรงรักษาผลประโยชน์ในเชิงอำนาจหน้าที่ของภาคราชการ ในทางตรงข้ามข้อมูลดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ในการประสานผลประโยชน์ในระดับเครือข่ายของภาคประชาชน มีผลต่อการสร้างความเข้มแข็งทางการเมืองภาคประชาชนได้ในระดับหนึ่ง
การสัมมนาทางวิชาการในประเด็นพระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเมืองเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2551 ณ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ของกลุ่มนักวิชาการได้แก่ คมสัน โพธิ์คง, นิรันดร์ พิทักษ์, วรรณธรรม กาญจนสุวรรณ, ประณต นันทิยะกุลและศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ ได้แสดงทรรศนะต่อพระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเมืองในแง่มุมต่างๆคือ ประการแรก องค์กรที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัตินี้ เป็นองค์กรที่ประกอบด้วยสมาชิกสภาพัฒนาการเมืองถึงหนึ่งร้อยคนซึ่งค่อนข้างใหญ่ และให้น้ำหนักต่อนักการเมือง พรรคการเมืองและสถาบันพระปกเกล้า สิ่งดังกล่าวอาจทำให้เกิดความไม่เป็นอิสระและไม่เป็นกลาง ประการที่สอง พระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเมืองควรจะเป็นกฎหมายภาคประชาชนไม่ควรเป็นองค์กรอิสระภายใต้สถาบันพระปกเกล้าและนักการเมือง ทำให้เกิดการยึดโยงกับสิ่งดังกล่าว อันเป็นการทำลายการเมืองภาคประชาชน ประการที่สาม สภาพัฒนาการ เมืองควรมีบทบาทการพัฒนาการเมือง การตรวจสอบและการส่งเสริมธรรมาภิบาลของฝ่ายการเมือง ประการที่สี่ ควรสร้างการมีส่วนร่วมของภาคีที่มาจากทุกฝ่ายเช่น ชุมชน ท้องถิ่น นักการเมือง ประชาชนและองค์กรฝ่ายอื่นๆ
การแสดงทรรศนะดังกล่าวแสดงถึงฐานคติที่มีต่อผล กระทบสองด้านของสภาพัฒนาการเมืองที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตคือ ประการแรก ผลที่เกิดจากการแสวงหาผลประโยชน์จากฝ่ายการเมืองและภาคราชการ ประการที่สอง ผลกระทบที่มีต่อการส่งเสริมความเข้มแข็งภาคประชาชนทางการเมืองและการบริหารซึ่งในประการที่สอง ความเข้มแข็งภาคประชาชนจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีการประสานของทุกภาคส่วนและความสามารถในการตรวจสอบและการส่งเสริมธรรมาภิบาลของฝ่ายการเมืองและภาคราชการ  จากฐานคตินี้ทำให้เกิดแนวความคิดในการพัฒนาการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนในระดับท้องถิ่นโดยเฉพาะระดับตำบลขึ้นโดยการนำเสนอแนวความคิดสภาองค์กรประชาชนซึ่งเป็นองค์กรภาคพลเมืองที่เป็นช่องทางในการมีส่วนร่วมเพื่อการกำหนดนโยบายและแผน รวมถึงการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับ ดังนั้น แนวความคิดที่มีต่อพระราชบัญญัติสภาองค์กรประชาชนหรือสภาองค์กรชุมชนจึงมีมากกว่าการจัดตั้งองค์กรที่เป็นสภา แต่หมายถึงกฎหมายที่มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกระดับ ขั้นตอนการกำหนดนโยบายและแผนพัฒนาซึ่งจะเชื่อมโยงกับพระราชบัญญัติพัฒนาการเมืองโดยร่วมเป็นสมาชิกสภาพัฒนาการเมือง ทำหน้าที่ในการวางแผนพัฒนาสภาการเมือง สถาบันทางการเมืองการปกครองให้เกิดคุณธรรมและจริยธรรมตลอดจนพัฒนาการเมืองท้องถิ่นให้เข้มแข็ง (สน รูปสูง. 2550: Web Site)   
รากฐานของการมีส่วนร่วมในการพัฒนาจะเป็นเครื่องมือต่อยอดในสิ่งที่ชุมชนมีอยู่แล้วเช่น การรวมกลุ่มที่มีสถานภาพ การสำรวจข้อมูลเพื่อเติมเต็มศักยภาพกลุ่มองค์กรชุมชนและรวมทั้งแผนของชุมชนเพื่อเชื่อมโยงกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งนี้ ในกระบวน การจัดตั้งสภาองค์กรชุมชน จะต้องมีการสำรวจข้อมูลหมู่บ้าน/ประชุมทำความเข้าใจ ทำการจดแจ้งกับผู้ใหญ่บ้าน จัดประชุม จัด ตั้งสภาฯ และเลือกคณะทำงานซึ่งได้แก่ ประธาน รองประธาน แบ่งบทบาทหน้าที่และจดแจ้งกับกำนัน เป้าหมายของสภาองค์กรชุมชนคือ การกำหนดทิศทางการพัฒนาโดยสภาองค์กรชุมชนต้องเชื่อมโยงอย่างเป็นขบวนการ ซึ่งชุมชนเป็นผู้มีบทบาทในการควบคุมดูแลในรูปขององค์กรในระดับตำบล จังหวัดและภาค โดยมีความตระหนักในการแก้ไขความยากจน และคนจนมีพื้นที่ในการมีส่วนร่วมกำหนดแผนและนโยบายการพัฒนา (สมชาติ ภาระสุวรรณ. 2550: Web Site) ตามเจตนารมณ์ของสภาองค์กรท้องถิ่น ซึ่งต้องกระทำหน้าที่ในการจัดทำแผนแม่บทชุมชน ประสานความร่วมมือ และติดตามผลการดำเนินงานตามแผนงานและโครงการ ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งสามระดับคือ ระดับตำบล ระดับจังหวัดและระดับชาติ (ศยามล ไกรยูรวงศ์. 2550: Web Site)         
อย่างไรก็ตาม แนวความคิดที่มีต่อการจัดตั้งสภาองค์กรประชาชนหรือองค์กรชุมชนยังมีประเด็นที่เป็นปัญหาที่โต้แย้งต่อแนวคิดและแนวทางที่กำหนดในพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชนซึ่งมองผ่านประสบการณ์จากการถ่ายโอนอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีเพียงรูปแบบในเชิงสาระ แต่ที่ปรากฏการณ์ตามความเป็นจริง หน่วยงานภาครัฐซึ่งได้แก่ กระทรวงมหาดไทยยังคงกำกับองค์กรดังกล่าว ดังแนวคิดโต้แย้งของศยามล ไกรยูรวงศ์ (2550: Web Site) ที่เสนอว่า ที่ผ่านมา การถ่ายโอนอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น “เป็นการถ่ายโอนอำนาจด้วยรูปแบบและภาพพจน์ของหน้าตาและเงิน ด้วยระบบการบริหารงานที่กระทรวงมหาดไทยยังกำกับและสร้างสัญลักษณ์การให้เกียรติยศ ความมีหน้ามีตาและอำนาจที่กฎหมายรองรับ พร้อมทั้งงบประมาณที่ยิ่งสร้างอำนาจเหนือประชาชน ทำให้องค์กรปกครองท้องถิ่นไม่เป็นอิสระเพราะไปหลงใหลในลาภยศ สรรเสริญที่หลายหน่วยงานมอบภารกิจให้ไปดำเนินการ”  เหตุผลดังกล่าว ทำให้ต้องจัดตั้งสภาชุมชนขึ้น ทั้งนี้มีการยกกรณีสภาซูรอหรือสภาประชาชนของชุมชนมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือเครือข่ายประชาชนในรูปแบบต่างๆที่เกิดจากการรวมกลุ่ม จากศักยภาพและความเข้มแข็งขององค์กรประชาชนบนฐานวัฒนธรรมของชุมชน เครือข่ายญาติพี่น้อง อย่างค่อยเป็นค่อยไป มองเห็นปัญหาและมีเจตนาที่จะแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของงบประมาณที่มาสนับสนุนจากภายนอก เมื่อใดก็ตามที่องค์กรประชาชนได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐหรือองค์กรเอกชน (เช่น องค์กรเอกชนที่ให้งบประมาณโดยขาดการสร้างกระบวนการพัฒนาชุมชนให้พึ่งตนเอง) และมีการจัดตั้งเพื่อตอบสนองการใช้งบประมาณนั้น องค์กรประชาชนดังกล่าวจะถูกแยกขาดจากประชาชนและชุมชนในท้องถิ่น เพราะต้องตอบสนองต่อองค์กรเอกชนและกลไกรัฐที่มาสนับสนุน แทนการตอบสนองต่อการพัฒนาชุมชน ระบบดังกล่าวได้ทำให้องค์กรประชาชนถูกแทรกแซงจากองค์กรของรัฐและองค์กรเอกชน ซึ่งสร้างความ สัมพันธ์ทางอำนาจเชิงอุปถัมภ์พึ่งพาในงบประมาณและหัวโขนที่ถูกตั้งขึ้น ทำให้ผู้นำชุมชนไม่มีจิตสำนึกของตัวแทนของเครือข่ายประชาชน (ศยามล ไกรยูรวงศ์. 2550: Web Site)
แนวความคิดข้างต้นได้เสนอทางออกสำหรับปัญหาดังกล่าวไว้คือ ประการแรก องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องแสดงจุดยืนในหลักธรรมาภิบาลที่ชัดเจน ไม่หลงยึดติดกับอำนาจเกียรติยศและการได้มาซึ่งผลประโยชน์ที่ไม่ถูกต้อง ประการที่สอง หากเป็นไปได้ ไม่ต้องกำหนดพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชนเพื่อรองรับข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะทำให้องค์กรชุมชนไม่ต้องปฏิบัติตามกรอบที่ภาครัฐได้วางไว้ องค์กรชุมชนจะมีความเป็นอิสระในการดำเนินงานจากการมีส่วนร่วมของชุมชนเอง และสามารถประสานความร่วมมือ รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานเอกชนโดยปราศจากการแทรกแซง
จะเห็นว่าประเด็นทั้งสอง เป็นข้อสรุปสำคัญภายใต้ฐานคติที่ว่า ภาครัฐไม่มีความเชื่อมั่นต่อองค์กรชุมชนหรือองค์กรประชาชนและกำลังดูถูกว่า องค์กรภาคประชาชนไม่สามารถสร้างความเข้มแข็งได้ หากไม่มีการจัดกระทำด้วยการจัดตั้งหน่วยงานกำกับ พร้อมทั้งสร้างนโยบายและจัดทำแผนเพื่อการกำหนดกรอบในการปฏิบัติการส่งเสริมความเข้มแข็งภาคประชาชนด้านการเมืองการบริหาร โดยพิจารณาจากการที่สภาองค์กรชุมชนต้องประสานร่วมมือด้านการจัดทำแผนชุมชนภายใต้การให้คำปรึกษาของหน่วยงานภาครัฐอย่างใกล้ชิด เพื่อให้แผนชุมชนสามารถบรรจุไว้ในแผนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวง มหาดไทย และสภาองค์กรชุมชนเองก็อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2543 ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2543 อันเป็นองค์กรของรัฐตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ต่อมาในเดือนตุลาคม 2545 ได้ย้ายมาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (www. codi. or. th) ดังนั้น สถาบันดังกล่าวจึงมีอำนาจหน้าที่ ในการกำกับดูแลสภาองค์กรชุมชน ดังประกาศของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนเรื่อง     “ หลักเกณฑ์ วิธีการ แบบจดแจ้งการจัดตั้งชุมชนและการจดแจ้งการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลตามพระราชบัญญัติ เพื่อให้องค์กรชุมชนแจ้งการจัดตั้งองค์กรชุมชน และจดทะเบียนสภาองค์กรชุมชนตำบลตามพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ. 2551 ” โดยให้อำนาจผู้ใหญ่บ้าน กำนันและผู้บริหารองค์กรบริหารส่วนตำบล  พิจารณาลักษณะของความเป็นชุมชนว่า มีลักษณะเป็นองค์กรชุมชนหรือไม่ ซึ่งการพิจารณาดังกล่าวอาจจะมีผลให้ไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมขององค์กรชุมชนในการจัดทำแผนชุมชนได้ หากพิจารณาได้ว่าไม่มีลักษณะเป็นองค์กรชุมชน
5. สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและการพัฒนาการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
ในขณะที่มีการดำเนินการตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญในประเด็นการพัฒนาการเมือง อีกด้านหนึ่ง มีการดำเนินการภายใต้แนวคิดที่ว่า “ โครงสร้างเชิงอำนาจหลักเช่น โครงสร้างอำนาจเศรษฐกิจและโครงสร้างอำนาจทางการเมืองมีอิทธิพลและส่งผลซึ่งกันและกัน ผู้ที่มีอำนาจทางเศรษฐกิจสูงกว่ามีแนวโน้มกุมอำนาจทางการเมืองไว้ในมือ ประชาธิปไตยที่แท้จริงจึงเกิดได้จากสังคมที่มีโครงสร้างอำนาจทั้งสองประเด็นที่กระจายตัวอยู่ในมือกลุ่มชนต่างๆ ที่หลากหลายและมีพลังอำนาจที่เท่ากัน ” (พลาธิป เสรีพิทักษ์. 2551: Web Site) แนวความคิดนี้เชื่อว่า เป้าหมายการพัฒนามีความสัมพันธ์กับโครงสร้างอำนาจทางการเมือง และปัญหาในการพัฒนาจะเกิดขึ้นทั้งในระดับบุคคลและระบบขององค์กรหรือการจัดการ ดังนั้นเมื่อประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จึงมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอำนาจ ที่ทั้งภาครัฐและกลุ่มการเมืองต้องลดบทบาทและต้องปฏิบัติตามกติกาของรัฐธรรมนูญ ความเป็นประชาธิปไตยที่มีมากขึ้นทำให้เกิดช่องว่างที่ภาคประชาชนมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา ซึ่งแนวคิดการพัฒนาที่กล่าวถึงนี้หมายถึง “ กระบวนการในอันที่จะจัดสรรทรัพยากร(Allocate the Resources) ซึ่งมีความขาดแคลนและหายาก เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่จุดมุ่งหมายที่ได้เลือกสรรแล้ว (Selected Goal) ” (พลาธิป เสรีพิทักษ์. 2551: Web Site) การเปลี่ยนแปลงข้างต้น นำไปสู่การก่อเกิดองค์กรซึ่งมีหน้าที่ในการสร้างบทบาทการมีส่วนร่วมในกระบวนการประชาธิปไตยและการพัฒนาประเทศในหลายรูปแบบและหลายระดับของภาคประชาชนขึ้นคือ “ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ” ซึ่งได้จัดตั้งขึ้นตามบทบัญญัติในรัฐธรรนูญ พ.. 2550 หมวด 5 ว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ มาตรา 87 ตามที่ได้กล่าวแล้ว ทั้งนี้ตามบทบัญญัติในมาตรา 258  “ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมีหน้าที่ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและแผนอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติต้องให้สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้ความเห็นก่อนพิจารณาประกาศใช้ องค์ประกอบ ที่มา อำนาจหน้าที่ และการดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ ให้มีสำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นหน่วยงานที่เป็นอิสระในการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดำเนินการอื่น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ ”
จุดมุ่งหมายสำคัญของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคือ ทำหน้าที่ตรวจสอบและถ่วงดุลการนำเสนอแนวคิดด้านการพัฒนาให้เป็นแนวคิดที่เกิดประโยชน์ของสังคมอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นการเลือกแนวทางการพัฒนาเพื่อประโยชน์แก่กลุ่มทุนที่มาครอบงำการเมือง (พลาธิป เสรีพิทักษ์. 2551: Web Site) ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ด้านต่างๆได้แก่ 1) เป็นองค์กรให้คำปรึกษาด้านเศรษฐกิจและสังคมแก่รัฐบาลอย่างมีประสิทธิภาพและมีการดำเนินงานอย่างอิสระและโปร่งใส 2) เป็นองค์กรให้คำปรึกษาด้านเศรษฐกิจและสังคมแก่รัฐบาลอย่างมีประสิทธิภาพและมีการดำเนินงานอย่างอิสระและโปร่งใส 3) เป็นองค์กรส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วนในกระบวนการกำหนดนโยบายและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 4) เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ในเรื่องเศรษฐกิจและสังคมให้แก่ประชาชน 5) เป็นองค์กรสะท้อนปัญหาเศรษฐกิจและสังคมในมิติต่างๆ เพื่อนำไปสู่แนวทางการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม 6) เป็นองค์กรมุ่งส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการเมืองและพัฒนาประชาธิปไตยให้ยั่งยืนต่อไปในอนาคต
เจตนารมณ์ดังกล่าว ทำให้เกิดแนวคิดที่ว่า ควรจะมีกฎหมายการมีส่วนร่วมขึ้นมารองรับในกระบวนการดำเนินการของภาคประชาชนซึ่งอ้างถึงบทบัญญัติในมาตรา 76 ของรัฐธรรมนูญปี 2540 “ รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการกำหนดนโยบายการตัดสินใจทางการเมือง  การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง รวมทั้งการตรวจ สอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับ ” อย่างไรก็ตาม จวบจนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่มีความชัดเจนของการกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนมากนัก ดังนั้น การมีส่วนร่วมของประชาชนจึงยังเป็นปัญหาและมีอุปสรรค เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายการมีส่วนร่วมเป็นการเฉพาะ ทำให้ประชาชนไม่สามารถใช้สิทธิด้านการมีส่วนร่วมได้เต็มที่เช่น สิทธิในการมีส่วนร่วมในการให้ความเห็นโดยการเข้าร่วมกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามมาตรา 59 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และแม้ว่ามาตรา 57 และ 58 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ได้กำหนดรายละเอียดของกระบวนการมีส่วนร่วมในกระบวนการต่างๆเช่น การพิจารณาการปฏิบัติราชการปกครองของเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งอาจมีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของตน (มาตรา 58) การจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก่อนการกำหนดกฎหมายที่มีผลกระทบต่อส่วนได้ส่วนเสียของประชาชน (มาตรา 57) แต่ก็ยังไม่ได้กำหนดกฎหมายเฉพาะด้านหรือกฎหมายที่เป็นหลักเกณฑ์กลางของการมีส่วนร่วมมารองรับ มีเพียงการสร้างตัวแบบการมีส่วนร่วมที่นำเสนอเพื่อผลักดันให้รัฐบาลจัดทำพระราชบัญญัติการมีส่วนร่วมของประชาชนในประเด็นต่างๆเช่น การรับรองสิทธิตามรัฐธรรมนูญ การจัดตั้งคณะกรรมการสนับสนุนคุ้มครองการมีส่วนร่วม การสนับสนุนกระบวนการมีส่วนร่วม การลงโทษผู้ขัดขวางการมีส่วนร่วมและการส่งเสริมรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพของตนเอง
ความพยายามในการศึกษาเพื่อเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับกฎหมายการมีส่วนร่วมของประชาชนและของสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2547) ซึ่งได้ข้อสรุปของช่องทางของการมีส่วนร่วมของประชาชนในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ดังนี้ 1) การมีส่วนร่วมให้ข้อเท็จ จริงหรือให้ความเห็นทั้งการพูด การเขียนและการแสดงความคิดเห็น 2) การมีส่วนร่วมโดยวิธีปรึกษาหารือได้แก่ การพบปะแลกเปลี่ยนข้อมูล พบปะคณะที่ปรึกษาร่วมในการอนุมัติโครงการเป็นต้น 3) การมีส่วนร่วมโดยวิธีการรับข้อมูลได้แก่ การทำประชาพิจารณ์ การได้รับข้อมูลข่าวสาร การดำเนินงานของรัฐ 4) การมีส่วนร่วมโดยวิธีที่ประชาชนเป็นผู้ริเริ่มเช่น การเสนอกฎหมาย การเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น 5) การมีส่วนร่วมโดยเข้าร่วมการดำเนิน การเช่น สิ่งแวดล้อม ศิลปะท้องถิ่น ภูมิปัญญาหรือวัฒนธรรม       6) การมีส่วนร่วมโดยการเข้าเป็นคณะกรรมการเช่น เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 7) การมีส่วนร่วมโดยวิธีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มองค์กรเช่น การจัดตั้งกลุ่ม หรือพรรคการเมือง 8) การมีส่วนร่วมโดยการออกเสียงลงคะแนนเช่น การลงประชามติ การลงคะแนน 9) การมีส่วนร่วมโดยการยื่นคำร้องเรียนต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ศาลปกครองเป็นต้น 10) การมีส่วนร่วมโดยวิธีการตรวจสอบเช่น การฟ้องร้องหน่วยงานภาครัฐ ราชการส่วนท้องถิ่น
แนวความคิดการมีส่วนร่วมของสภาที่ปรึกษาฯ แตกต่างจากแนวคิดการมีส่วนร่วมของสถาบันพัฒนาการเมืองที่ไม่ได้เสนอให้มีการนำองค์กรประชาชน หรือองค์กรชุมชนเข้าสู่กระบวนการที่เป็นทางการ ซึ่งวิธีการของสถาบันพัฒนาการเมืองดังกล่าว อาจจะมีประโยชน์ในประเด็นการสร้างฐานข้อมูลขององค์กรชุมชนเพื่อการจัดการ แต่จะทำให้องค์กรชุมชนที่เข้าสู่กระบวนการที่เป็นทางการ ไม่มีความเป็นอิสระจากกรอบกฎหมายของภาครัฐ นอกจากนั้น ยังไม่เป็นอิสระจากสถาบันการเมืองท้องถิ่นและผู้นำชุมชนท้องถิ่นที่อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายเช่น กำนันและผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงองค์การบริหารส่วนตำบล ในทางตรงกันข้าม องค์กรชุมชนที่มีลักษณะไม่เป็นทางการ จะมีอิสระทั้งด้านการดำเนินการและมีอิสระทางความคิดมากกว่า เนื่องจากไม่ต้องคำนึงถึงการปฏิบัติตามกรอบที่กฎหมายกำหนด มีแต่เพียงการปฏิบัติตามกรอบของคุณธรรมและจริยธรรมที่ดำรงอยู่ภายในองค์กรชุมชนเอง ซึ่งสอดคล้องต่อแนวทางการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ของสำนักงานกองทุนเพื่อการวิจัย (สกว.) ในโครงการนำร่องบูรณาการจังหวัดอย่างเป็นระบบ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนด้วยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยใช้จังหวัดยโสธรและจังหวัดพัทลุงเป็นจังหวัดต้นแบบ ทั้งนี้ได้เน้นการประสานงานและการทำงานร่วมกันทุกกระบวนการ ให้เกิดการเรียนรู้และความรู้ในการทำงานเช่น การเปิดเวทีประชาพิจารณ์เพื่อระดมความคิดเห็นอย่างมีอิสระไม่อยู่ภายใต้การชี้นำหรือครอบงำของผู้นำชุมชน ทำให้เกิดความตระหนักในปัญหาชุมชน มีฐานข้อมูลชุมชนที่ครอบ คลุมและเท่าทันสถานการณ์ เกิดบทเรียนการทำงานร่วมกัน ผ่านกระบวนการและขั้นตอนในการจัดทำแผนชุมชนและการจัดเวทีต่างๆ รวมทั้งการทำงานกับองค์กรเครือข่าย ทำให้เกิดการทำงานที่ต้องสัมพันธ์กับท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด (2007: www. Iqnewscen ter. com
การนำแนวคิดการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างการส่งเสริมและการพัฒนาที่รอบด้านกว่าแนวความคิดด้านการพัฒนาการเมืองภายใต้สถาบันพัฒนาการเมือง เนื่องจากหากพิจารณาแนวคิดการมีส่วนร่วมที่ได้จากการศึกษาวิเคราะห์ของสภาที่ปรึกษาฯ จะพบว่า การพัฒนาหรือการแก้ไขปัญหาต่างๆของท้องถิ่นและชุมชน ไม่ได้ปลอดจากการเมือง ในทางตรงกันข้าม การแก้ไขปัญหาของท้องถิ่นและชุมชนทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมต้องใช้การบริหารจัดการที่ดี และต้องนำคุณธรรมด้านการเมืองเข้ามาเป็นกลไกร่วมกัน เพื่อการแก้ไขปัญหาความยากจน โดยเฉพาะภาครัฐซึ่งมีความพยายามในการปรับตัวให้สอดคล้องกับการบริหารงานในรูปแบบการประสานหลากหลายสาขา ที่มีการบูรณาการด้านต่างๆเข้าด้วยกัน(Wide Sector Approach) เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินงานโดยเน้นเป้าหมายการให้การบริการหรืออำนวยความสะดวกต่อภาคประชาชนตามแนวความคิดและแนวทางการบริหารจัดการสมัยใหม่ ซึ่งได้มีการปรับแนวคิดไปสู่การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดประโยชน์ในด้านต่างๆได้แก่  การเพิ่มคุณภาพการตัดสินใจ เกิดทางเลือกใหม่ๆ ทำให้การตัดสินใจมีความรอบคอบขึ้น การมีส่วนร่วมของประชาชนตั้งแต่ต้น จะลดความขัดแย้งและแรงต่อต้านจากประชาชน ทำให้เกิดฉันทามติและความชอบธรรมในการตัดสินใจของภาครัฐ ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐมีความใกล้ชิดกับประชาชน เกิดการพัฒนาความเชี่ยวชาญและความคิดสร้างสรรค์ของสาธารณชน(สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. 2551: 10)
6. ระบบการบริหารราชการแผ่นดินของภาครัฐ
ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินถือเป็นนโยบายของรัฐบาลกลาง ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานต่างๆของภาครัฐซึ่งเป็นกลไกในการนำนโยบายอื่นๆของรัฐบาลไปปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม ความสำคัญของการบริหารราชการแผ่นดินคือ การวางระบบและโครงสร้างบริหารราชการออกเป็นสามระดับคือ ระดับแรก การบริหารราชการส่วนกลางตามมาตรา 7 ได้แก่ สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวงซึ่งมีฐานะเทียบเท่ากระทรวง ทบวง ซึ่งสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีหรือกระทรวงและกรมหรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ซึ่งสังกัดหรือไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง ระดับที่สอง การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคตามมาตรา 51 แบ่งเป็น จังหวัดและอำเภอ มาตรา 57 กำหนดให้การบริหารราชการระดับจังหวัดมีผู้ว่าราชการจังหวัดมีหน้าที่อย่างกว้างขวาง ทั้งด้านการบริหารงานบุคคลและงบประมาณ ตามระเบียบแบบแผนของทางราชการส่วนกลาง ทั้งนี้ในมาตรา 52/1 ของระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) 2550 ที่เพิ่มขึ้นจากระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฉบับ 2534 ได้กำหนดหน้าที่ที่สำคัญของจังหวัดคือ การนำภารกิจและนโยบายของรัฐบาลไปปฏิบัติให้เกิดสัมฤทธิผล รวมทั้งการควบคุมดูแลการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นตามมาตรา 57(7) และมาตรา 53/1 ของระเบียบดังกล่าวกำหนดให้จังหวัดต้องจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งจังหวัดมีหน้าที่ดูแลให้แผนพัฒนาท้องถิ่นสอดคล้องกับแผนพัฒนาจังหวัด พร้อมทั้งดูแลองค์กรปกครองท้องถิ่นให้มีความพร้อม ในการดำเนินภารกิจที่ได้รับการถ่ายโอนจากกระทรวง ทบวง กรมตามมาตรา 52/1 วรรค 5
หน่วยราชการบริหารรองจากจังหวัดเรียกว่า อำเภอตามมาตรา 61 /1 ของระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฉบับที่ 7 นอกจากอำนาจหน้าที่ของอำเภอจะเป็นไปตามบทบัญญัติตามมาตรา 52/1แล้ว มาตรานี้ยังกำหนดอำนาจหน้าที่ของอำเภอในการประสานงานกับหน่วยงานอื่นของรัฐในรูปแบบศูนย์รวมบริการ และมีหน้าที่ประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อร่วมมือกับชุมชนในการดำเนินการให้มีแผนชุมชน เพื่อรองรับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จังหวัด กระทรวง ทบวงและกรม นอกจากนั้น มาตรา 65 ของระเบียบบริหารราชการแผ่นดินปี 2534 ยังกำหนดอำนาจหน้าที่ของนายอำเภอให้ปฏิบัติหน้าที่ตามคำแนะนำของผู้ว่าราชการจังหวัด ปฏิบัติหน้าที่ตามที่คณะรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรมมอบหมาย และหน้าที่ในการควบคุมดูแลการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นในอำเภอตามกฎหมายว่าด้วยการปกครองท้องที่ซึ่งประกาศเป็นพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ และใช้มาตั้งแต่ปี 2457 มีการแก้ไขเพิ่มเติมสิบเอ็ดครั้ง สำหรับประเด็นอำนาจของอำเภอด้านการปกครองท้องที่มาตรา 83 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ. 2486 กำหนดว่า กรมการอำเภอ (หมายถึงนายอำเภอและปลัดอำเภอ) มีหน้าที่ในการจัดการปกครองตำบลและหมู่บ้าน ทำหน้าที่เช่นเดียวกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มาตรานี้ไม่ได้มีการแก้ไข แต่มีการเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงยุคปัจจุบัน โดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ฉบับที่ 11 พ.ศ. 2551 ได้เพิ่มเติมมาตรา 14 ข้อกำหนดหน้าที่ของนายอำเภอในการดูแลการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน แต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านที่ได้รับจากการเลือกตั้ง และถอดถอนโดยวิธีการรายงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง ทั้งยังมีอำนาจตามมาตรา 30 ในการเรียกประชุมผู้ใหญ่บ้านและคัดเลือกกำนันจากที่ประชุมนั้น มาตรา 122 นายอำเภอมีหน้าที่ร่วมกับองค์กรปกครองท้องถิ่นในการดูแลรักษาสาธารณะประโยชน์ในเขตอำเภอและสามารถอนุญาตให้บุคคลอื่นๆเข้าใช้ประโยชน์โดยเฉพาะที่ดินได้ตามความเห็นชอบของผู้ว่าราชการจังหวัด
ดังนั้น โครงสร้างระบบบริหารราชการแผ่นดินทั้งส่วน กลางและส่วนภูมิภาคจึงมีลักษณะสองประการคือ การรวมศูนย์อำนาจและการแบ่งอำนาจการปฏิบัติงานให้แก่หน่วยงานราชการในสังกัดของกระทรวง ทบวงจากส่วนกลาง สำหรับการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น มาตรา 69 ของระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 แบ่งลักษณะของท้องถิ่นเป็นสี่ระดับคือ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล สุขาภิบาลและราชการส่วนท้องถิ่นอื่นที่กฎหมายกำหนด  ราชการส่วนท้องถิ่นอื่นในที่นี้คือ องค์การบริหารส่วนตำบล เมืองพัทยาและกรุงเทพมหานคร สังเกตได้ว่า กฎหมายหรือพระราชบัญญัติองค์กรปกครองท้องถิ่นแต่ละประเภท จะแยกระบบการบริหารราชการออกจากกัน มาตรา 5 ของพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัดปี (2546) กำหนดว่า ราชการส่วนท้องถิ่นอื่นได้แก่ เทศบาล สุขาภิบาล องค์การบริหารส่วนตำบล เมืองพัทยาและกรุงเทพมหานคร แต่ในมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลเรียกว่า หน่วยการบริหารราชการท้องถิ่น ยกเว้นองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งข้อกำหนดของส่วนราชการท้องถิ่นอื่นไม่ต่างกัน จะเห็นว่า องค์กรปกครองท้องถิ่นโดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนจังหวัดจะมีข้อกำหนดในลักษณะที่ต่างจากองค์กรปกครองท้องถิ่นอื่น เนื่องจากเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นที่รับผิดชอบพื้นที่เขตจังหวัดตามข้อบัญญัติในมาตรา 8 และมีหน้าที่ในการสนับสนุน ประสานงานและให้ความร่วมมือและแบ่งสรรเงินตามกฎหมายให้แก่สภาตำบลและราชการส่วนท้องถิ่นอื่นตามบทบัญญัติมาตรา 45 อย่างไรก็ตาม อำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดยังถูกครอบด้วยการบริหารราชการส่วนกลาง โดยรัฐมนตรีและผู้ว่าราชการจังหวัดตามบทบัญญัติมาตรา 47 รัฐมนตรีอาจออกคำสั่งให้ราชการส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาคดำเนินการกิจกรรมใดๆโดยอ้างถึงการที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดละเลยไม่จัดดำเนินการกิจกรรมตามอำนาจหน้าที่ นอกจากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถระงับร่างข้อบัญญัติต่างๆ รวมทั้งร่างข้อบัญญัติที่เกี่ยวกับงบประมาณรายจ่ายได้ตามบทบัญญัติมาตรา 55 และ 54 ทั้งนี้พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัดฉบับที่สาม พ.ศ.2546 มาตรา 79 กำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ในการรายงานรัฐมนตรีเพื่อปลดหรือให้นายก รองนายกและประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดพ้นจากหน้าที่ได้โดยอ้างถึงการละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ที่กำหนดขึ้นตามกฎหมาย จะเห็นว่าการบริหารราชการส่วนกลางได้สร้างระบบการบริหารซึ่งสามารถใช้อำนาจควบคุมการบริหารส่วนท้องถิ่นในระดับจังหวัดอีกชั้นหนึ่ง
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับรองลงมาคือ เทศบาล เทศบาลตำบลโดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งเป็นหน่วยการปกครองท้องถิ่นที่เล็กที่สุดและมีความสำคัญต่อการพัฒนาในระดับชุมชน หมู่บ้านและครัวเรือนมากที่สุด การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นในระดับนี้จำลองตัวแบบของระบบการบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดมาใช้ เพียงแต่ผู้มีอำนาจหน้าที่ทำการแทนผู้ว่าราชการคือนายอำเภอในเขตตำบลพื้นที่รับผิดชอบ โดยมีหน้าที่ในการแต่งตั้งประธานสภาตำบล นอกจาก นั้น บทบัญญัติมาตรา 46 วรรค 3 กำหนดอำนาจของสภาองค์การบริหารส่วนตำบลในการควบคุมการปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริหารให้เป็นไปตามแผนตำบลและนโยบาย ระเบียบข้อบังคับของกฎหมาย ประธานบริหารขององค์การบริหารส่วนตำบลหรือที่เรียกในปัจจุบันว่า นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นผู้แทนตำบล (มาตรา 60) และร่วมกับคณะกรรมการบริหารบริหารงานตำบลตามบทบัญญัติมาตร 59 ในหน้าที่ต่างๆ ได้แก่ การจัดทำแผนตำบล แผนงบประมาณ และปฏิบัติตามแผนดังกล่าว รวมทั้งรายงานผลการปฏิบัติงาน รายงานผลการใช้จ่ายงบประมาณและปฏิบัติหน้าที่อื่นๆตามที่กฎหมายกำหนดให้ ทั้งนี้ กระทรวง ทบวง กรมสามารถเข้าทำหน้าที่ต่างๆทั้งด้านสาธารณูปโภค สาธารณูป การ การดูแลประชาชนในตำบล รวมทั้งการปกปิดข้อมูลด้วยข้อ อ้างที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติได้ ตามมาตรา 69,70 และ 71 
หน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งเกี่ยวข้องกับการออกข้อบังคับใช้ในพื้นที่ตำบลของตนบทบัญญัติมาตรา 71 ใช้คำว่าอาจจะและให้อำนาจแก่นายอำเภอในการยับยั้งร่างข้อบังคับขององค์การบริหารส่วนตำบลได้ อย่างไรก็ตาม ในมาตรานี้ ให้สิทธิแก่องค์การบริหารส่วนตำบลในการทบทวนร่างข้อบังคับเสียใหม่และหากมีจำนวนกรรมการสองในสามของสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ร่างข้อบังคับดังกล่าวก็สามารถประกาศใช้ได้โดยการลงนามของประธานองค์การบริหารส่วนตำบล ทั้งนี้ต้องภายในสามสิบวันนับแต่ร่างข้อบังคับถูกนายอำเภอยับยั้ง หากพ้นจากกำหนดเวลาดังกล่าวร่างข้อบังคับเป็นอันตกไป ทำให้มีข้อสังเกตได้ว่า อาจเกิดการครอบงำทางความคิดที่เกี่ยวกับข้อบังคับของตำบลได้ โดยเฉพาะร่างข้อบังคับที่สำคัญเช่น งบประมาณรายจ่ายประจำปีและงบประมาณเพิ่มเติม ซึ่งให้เวลาในการพิจารณาเพียงสิบห้าวันโดยผู้ว่าราชการจังหวัด(มาตรา 87) เป็นผู้เห็นชอบและนายอำเภอเป็นผู้ลงนาม ทั้งนี้ กระทรวง มหาดไทยมีอำนาจในการออกระเบียบต่างๆเพื่อใช้ในการดำเนินงานในพื้นที่ตำบล และมีอำนาจในการตรวจสอบการดำเนินงานด้านการคลัง บัญชีและอื่นๆที่จำเป็นโดยอ้างถึงความมีประสิทธิภาพตามมาตรา 37 (มาตรา 88,89) ดังนั้น การกำกับดูแลองค์การบริหารส่วนตำบลและสภาองค์การบริหารส่วนตำบลจึงอยู่ภายใต้อำนาจของส่วนกลาง ซึ่งหน้าที่จากส่วนกลางดังกล่าวได้บัญญัติไว้ในมาตรา 90 ว่า นายอำเภอมีหน้าที่ในการกำกับดูแลองค์การบริหารส่วนตำบล  มาตรา 91กำหนดว่า นายอำเภอมีหน้าที่รายงานเสนอความเห็นแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดยุบสภาองค์การบริหารส่วนตำบลได้ มาตรา 92 ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจในการให้คณะกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลทั้งคณะหรือบางคนพ้นจากตำแหน่งได้ ทำให้น้ำหนักในการกำกับควบคุมเป็นไปอย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ข้อกำหนดในประเด็นการกำกับดูแล ซึ่งถือได้ว่า เป็นการควบคุมตามบทบัญญัติข้างต้นเช่น อำนาจในการกำกับดูแลและตรวจสอบเอกสาร การตรวจสอบการปฏิบัติงานขององค์ การบริหารส่วนตำบลของนายอำเภอ อำนาจในการยุบสภาองค์การบริหารส่วนตำบลและการสั่งให้คณะกรรมการองค์การบริหารส่วนตำบลทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งของผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นต้น
แม้ว่า ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมหลายครั้ง แต่การแก้ไขเพิ่มเติมส่วนใหญ่ เป็นการแก้ไขอำนาจหน้าที่ภายในกระทรวง ทบวง กรม และการมอบหมายให้จังหวัดจัดทำแผนจังหวัด แผนพัฒนาท้องถิ่นดังเช่น ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฉบับที่เจ็ด พ.ศ. 2550 เป็นต้น ทำให้ยังคงมีลักษณะของการรวมศูนย์อำนาจและการแบ่งอำนาจโดยเฉพาะการกำหนดให้ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธานผู้แทนภาคประชาสังคมตามมาตรา 55/1 ของระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฉบับดังกล่าว ทำให้ลักษณะของระบบตัวแทนภาคประชาชนในท้องถิ่นถูกครอบด้วยระบบรวมศูนย์อำนาจจากระบบราชการ
7. แผนชุมชน
สิ่งที่สามารถทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนในชุมชนและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนคือแผนชุมชน ซึ่งเป็นกิจกรรมการพัฒนาที่เกิดจากคนในชุมชนที่มีการรวมตัวกันเพื่อจัดทำแผนขึ้นมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาชุมชนหรือท้องถิ่น ตามความต้องการและความสามารถในการแก้ไขปัญหาที่ชุมชนเผชิญอยู่ร่วมกัน  คนในชุมชนร่วมคิด ร่วมกำหนดแนวทางและกิจกรรมการพัฒนาของชุมชนโดยยึดหลักการพึ่งพาตนเอง ลดการพึ่งพิงภายนอก ด้วยการคำนึงถึงศักยภาพ ทรัพยากร ภูมิปัญญา วิถีชีวิต วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นเป็นหลัก ซึ่งการจัด ทำแผนชุมชนจะอาศัยการบูรณาแผนชุมชน ซึ่งเป็นการร่วมมือกันทำงานของหน่วยงานสนับสนุนการพัฒนาภายนอกชุมชนทุกภาคส่วน โดยยึดหลักการใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ชุมชนเป็นศูนย์กลาง ประชาชนเป็นเจ้าของเรื่อง โดยใช้กระบวนการจัดทำแผนชุมชนเป็นเครื่องมือดำเนินกิจกรรมการพัฒนา ให้เป็นไปตามความต้องการของชุมชน มากกว่าวัตถุประสงค์ของหน่วยสนับสนุน การบูรณาการมีทั้งบูรณาการด้านกลไก บุคลากร กระบวนการและเครื่องมือ แผนงาน และงบประมาณ (2551: Web Site)
ดังนั้น แผนชุมชนจึงเกิดขึ้นจากการมองเห็นความ สำคัญต่อการมีส่วนร่วมในกิจกรรมการวางแผนในระดับชุมชน และการให้ความสำคัญของรัฐบาลต่อกิจกรรมอันเป็นกลไกแก้ไขปัญหาความยากจน ทั้งนี้ มติของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2545 ให้ความเห็นชอบต่อกรอบยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาความยากจนซึ่งกรมพัฒนาชุมชนมีหน้าที่ในการศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลที่เป็นปัญหาชุมชน สนับสนุนให้ประชาชนจัดทำแผนโครงการและติดตามการมีส่วนร่วม เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และสถานการณ์ของชุมชนในช่วงเวลานั้นโดยเน้นแผนพัฒนาตำบล แผนพัฒนาหมู่บ้านและแผนแม่บทชุมชน ที่มีเป้าหมายในการขจัดปัญหาความยากจนในเชิงพื้นที่ซึ่งต้องมีการบูรณาการแผนชุมชน นอกจากนั้นนโยบายที่เกี่ยวข้องกับแผนชุมชนคือ
1. มติคณะกรรมการนโยบายกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคและท้องถิ่นเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2546 มีสาระสำคัญในประเด็น การปรับปรุงระบบการวางแผนพัฒนาจังหวัด และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารการพัฒนาเพื่อกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น พ.ศ. 2534 แบ่งการบริหารงบประมาณออกเป็นสองระดับได้แก่ ระดับกระทรวง จัดทำเป็นแผน/โครงการของกระทรวงและภูมิภาคโดยให้อิสระแก่จังหวัดในการบริหารงบประมาณเพื่อการใช้งบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ใช้กระบวนการแผนชุมชนเป็นเครื่องมือเสริมสร้างการเรียนรู้โดยเป็นแผนที่ทำโดยคนในชุมชน เน้นทุนทางสังคม วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นหลัก การขับเคลื่อนแผนชุมชนประกอบด้วยโครงการ กิจกรรมที่ถูกกำหนดขึ้นด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชนในชุมชน รวมทั้งการประสานงานกับองค์การบริหารส่วนตำบลและหน่วยงานอื่นๆ
2. มติของคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ วันที่ 27 มกราคม 2546 เน้นบทบาทของชุมชนในการแก้ไขปัญหาความยากจน เพิ่มบทบาทองค์กรภาคสังคมและองค์กรปกครองท้องถิ่นและการปรับบทบาทภาครัฐ จากการกำกับควบคุมมาเป็นให้การบริการสนับสนุนอำนวยความสะดวกแก่ภาคประชาชน ให้ความสำคัญต่อการบูรณาการการทำงานของทุกภาคส่วน และการมีเป้าประสงค์ร่วมกัน มีการจัดลำดับความสำคัญของกิจกรรมและพื้นที่ดำเนินการร่วมกัน เน้นแนวทางการจัดทำงบประมาณและการกำหนดพื้นที่เป้าหมาย และกำหนดกลไกกลางในการขับเคลื่อนซึ่งได้แก่ กระทรวงมหาดไทยทำหน้าที่ในการประสานงานระหว่างส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่น
สาระสำคัญของแนวคิดการวางแผนชุมชนคือ การที่ชุมชนต้องร่วมกันจัดทำแผนพึ่งตนเองตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งหมายถึงการพึ่งตนเองและพึ่งพากันเองของคนในชุมชน รวมถึงการพึ่งพาทุนทางสังคมเดิมของชุมชนหรือหมู่บ้าน ทั้งนี้ ชุมชนจะต้องทำแผนที่คนในชุมชนสามารถปฏิบัติได้ด้วยตนเอง สำหรับแผนที่มีกิจกรรมที่ต้องไปใช้งบประมาณจากภายนอกให้ถือเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการทำแผนดังกล่าว ดังนั้น การบูรณาการแผนชุมชนจึงเน้นการพึ่งพาทุนทางสังคมเป็นหลักโดยมีกระบวน การวางแผนที่มีลักษณะของปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นในชุมชน ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อร่วมกันค้นหาแนวทางแก้ไขปัญหา ประการสำคัญ สาระของแผนชุมชนได้กำหนดและนิยามถึงผู้เกี่ยวข้องกับการวางแผนดังกล่าวไว้คือ บุคคลในชุมชน ไม่จำกัดอาชีพและฐานะ เพื่อการเข้ามามีส่วนร่วมกำหนดทิศทางของชุมชน โดยอาจมีหน่วยงานพี่เลี้ยงคอยแนะนำ ไม่ใช่การเข้ามาเพื่อวางแผนแทนชุมชน ดังนั้นกระบวนการวางแผน จึงต้องเริ่มจากระดับหมู่บ้านขึ้นไปสู่ระดับตำบล อย่างไรก็ตาม แผนชุมชนเป็นสิ่งหนึ่งที่อยู่ภายในกรอบของแผนพัฒนาจังหวัด ซึ่งการจัดทำแผนชุมชนจะต้องมีงบประมาณสนับสนุน ดังนั้นจึงต้องนำแผนชุมชนเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการแผนพัฒนาและงบประมาณ(ก.อ.พ.) และจำเป็นต้องแปลงแผนดังกล่าวให้เป็นโครงการโดยต้องบรรจุไว้ในในแผนระดับตำบลหรือเทศบาลตำบลแล้วจึงบรรจุไว้ในโครงการชุมชนและยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข
การจัดทำโครงการบูรณาการในระดับจังหวัด เน้นการ บูรณาการทั้งแนวดิ่งและแนวราบระหว่างภาคีต่างๆ หลักการสำคัญคือ ใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ชุมชนเป็นศูนย์กลาง ประชาชนเป็นเจ้าของและร่วมมือกับภาคีทุกภาคส่วนเช่น สังคมทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคมและชุมชน มีการบูรณาการทั้งกระบวนการ บุคลากร แผนงานและงบประมาณของหน่วยงานสนับสนุน มีกระบวนการที่มุ่งสู่การแก้ปัญหาแบบองค์รวม โดยมีสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)เป็นแกนกลางประสานการดำเนินงานกับหน่วยงานภาครัฐภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชนและภาคีการพัฒนาอื่นๆ ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น เพื่อร่วมกันผลักดันให้เกิดกระบวนการจัดทำแผนชุมชน
การดำเนินงานโครงการแผนชุมชนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของกรมพัฒนาชุมชนประจำปี 2551 ใน 75 จังหวัด โดยภาพรวมมีชุมชนจัดทำแผนชุมชน 72,442 แผน แบ่งเป็นแผนที่มีคุณภาพดีมาก 30,582 แผน คิดเป็นร้อยละ 42.22 ชุมชนที่มีการจัดทำแผนชุมชนในระดับคุณภาพดี 10,935 แผนคิดเป็น ร้อยละ 26.28 ชุมชนที่มีการจัดทำแผนที่มีคุณภาพระดับพอใช้ 22,829 แผน คิดเป็นร้อยละ 31.51 ทั้งนี้ ข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นกับการปฏิบัติตามโครงการดังกล่าวคือ การจัดทำระบบฐานข้อมูลชุมชนอันเป็นเครื่องมือสำคัญในการติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาความยากจนของกระทรวงมหาดไทย และยังเป็นเครื่องมือในการประเมินผลการดำเนินการ ในทางการบริหาร อาจกล่าวได้ว่า กลไกซึ่งเป็นแบบแผนเพื่อติดตามผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่รับผิดชอบ ทั้งในระดับอำเภอและจังหวัด เป็นส่วนหนึ่งของเครื่องมือในการรักษาผลประโยชน์ด้านสถานภาพในเชิงอำนาจหน้าที่ รวมทั้งการดำรงรักษาและการพัฒนาไปสู่ความก้าวหน้าในขั้นสูงของบุคลากรภาครัฐต่อไป  
8. สรุปประเด็นนโยบายภาครัฐ  
โดยภาพรวมที่ได้จากการพิจารณาบทบัญญัติต่างๆของกฎหมายและนโยบายอื่นๆ ของรัฐบาลกลาง ทำให้เห็นภาพของระบบบริหารราชการแผ่นดินซึ่งสะท้อนถึงโครงสร้างการบริหาร และการจัดตั้งองค์กรการบริหารภาครัฐในลักษณะการรวมศูนย์อำนาจและการแบ่งอำนาจ ซึ่งยังมองไม่เห็นภาพของการกระจายอำนาจที่ชัดเจนนัก ทำให้นโยบายการกระจายอำนาจที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ไม่ประสบผลมากนัก เนื่องจากความคิดที่ว่าประชาชนยังไม่มีความเข้มแข็งทางการเมืองและการบริหาร ดังนั้น นโยบายการส่งเสริมความเข้มแข็งภาคประชาชนจึงได้กำหนดเป็นกฎหมายและวิธีการปฏิบัติเพื่อให้ภาคราชการนำไปปฏิบัติภายใต้แนวคิดใหม่ที่พยายามสร้างความเป็นธรรมรัฐหรือธรรมาภิบาล และแนวคิดในการนำกลไกการมีส่วนร่วมภาคประชาชนมาใช้ให้เกิดประโยชน์และสอดคล้องต่อความชอบธรรมของภาคราชการมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พบได้จากนโยบายของรัฐบาลกลางในบางประการก็คือ ปัจจัยในเชิงเนื้อหาสาระที่เอื้อต่อการส่งเสริมความเข้มแข็งภาคประชาชนด้านการเมืองการบริหาร ในทางตรงกันข้าม ระบบตัวแทนที่กำหนดขึ้นในระดับชุมชนและท้องถิ่นเช่น สภาองค์กรประชาชนซึ่งมาจากกลุ่มองค์กรประชาชนที่ต้องเข้าจดทะเบียนให้ถูกกฎหมาย ทำให้กลุ่มที่อยู่นอกกรอบของกฎหมายจะไม่ได้รับสิทธิให้เข้าไปมีส่วนร่วมในสภาองค์กรประชาชน และกลุ่มองค์กรประชาชนที่ได้รับการรับรองจากกฎหมาย อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือของภาครัฐและภาคการเมืองเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ทั้งด้านการเมืองและสถานภาพด้านอำนาจได้ 
ประเด็นที่น่าพิจารณาคือ ความพยายามส่งเสริมความเข้มแข็งภาคประชาชนด้านการเมืองและการบริหารของรัฐบาล เพื่อทำให้เกิดความสอดคล้องต่อความต้องการของภาคประชาชน โดยมีความพยายามบัญญัติกฎหมายสูงสุดจากความคิดที่มาจากภาคสังคม แล้วใช้ความเป็นตัวแทนกำหนดนโยบายและกฎหมายเฉพาะรองรับการใช้สิทธิ ทั้งที่เป็นของภาคประชาชนและเป็นของภาครัฐภายใต้หลักธรรมาภิบาล ซึ่งจะทำให้เกิดความสอดคล้องต่อแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งนี้ การกำหนดนโยบายเฉพาะจากรัฐบาลกลางโดยกระบวนการทางรัฐสภาอาจส่งผลกระทบต่อการลิดรอนสิทธิบางประการเช่น ภาคประชาชนอาจไม่สามารถใช้สิทธิซึ่งกฎหมายสูงสุดได้บัญญัติไว้เพื่อให้สอดคล้องต่อแนวคิดที่ว่า กุญแจสำคัญของความเป็นประชาธิปไตยและหัวใจของการมีส่วนร่วมในกระบวนการต่างๆของประชาชนคือ การกระจายอำนาจสู่ภาคประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่สิ่งที่ปรากฏยังคงเป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์และข้อโต้แย้งในประเด็นที่รัฐบาลเข้าแทรกแซงกระบวนการบริหารงานขององค์การบริหารส่วนตำบล  ยิ่งไปกว่านั้น ภาครัฐสามารถกำหนดและแทรกแซงกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนทุกระดับโดยผ่านช่องทางต่างๆที่รัฐได้กำหนดไว้ ดังที่ได้พิจารณาถึงรายละเอียดของพระราชบัญญัติบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายปกครองลักษณะท้องที่และพระราชบัญญัติสภาตำบลรวมถึงองค์การบริหารส่วนตำบลข้างต้นซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในลักษณะการใช้อิทธิพลในท้องถิ่นครอบงำการบริหารงานท้องถิ่น อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ได้จากการพิจารณาในเชิงนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์พบปัญหาสำคัญของนโยบายและกฎหมายประการหนึ่งคือ ประชาชนไม่สามารถใช้สิทธิตามกฎหมายหรืออาจถูกลิดรอนสิทธิบางประการเนื่องจากไม่มีกฎหมายที่กว้างและครอบคลุมเพียงพอที่จะนำไปใช้ภายใต้บริบทของพื้นที่ชุมชนและท้องถิ่นที่มีความแตกต่างกัน ดังนั้น ลักษณะของนโยบายหรือกฎหมายที่จะนำไปใช้จึงจำเป็นต้องพิจารณาบริบทที่มีความแตกต่างกันของแต่ละพื้นที่โดยไม่มีข้อจำกัด และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ทั้งในพื้นที่ที่มีความพร้อมด้านประชาธิปไตยหรือการมีส่วนร่วมดูแลตนเองได้และพื้นที่ที่มีความพร้อมน้อยกว่าหรือมีความแตกต่างกันในด้านประเพณีและวัฒนธรรม ตัวอย่างที่ชัดเจนในที่นี้คือ การใช้สิทธิเข้าไปมีส่วนร่วมในระบบตัวแทนระดับชุมชนขององค์กรภาคประชาชนที่มีสถานภาพได้รับการรับรองสิทธิเนื่องจากมีความพร้อมมากกว่าองค์กรภาคประชาชนที่ไม่มีความพร้อมและไม่ได้รับการรับรองสิทธิดังกล่าว ประเด็นที่พึงควรพิจารณาคือ ความแตกต่างระหว่างแนวคิดในเชิงทฤษฎีที่เชื่อว่าทุกคนมีความเท่าเทียมกัน ขณะที่ในความเป็นจริง คนทุกคนไม่เท่าเทียมกันด้านปัญญา ดังนั้นกลไกของระบบอุปถัมภ์จึงสามารถนำมาเป็นเครื่องมือในการลดช่องว่างของปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคมได้
ในอีกด้านหนึ่งของนโยบายของรัฐบาลกลาง ซึ่งเห็นถึงความสำคัญต่อประเด็นระบบบริหารราชการและนโยบายอื่นๆข้างต้น ที่สร้างข้อจำกัดให้แก่ภาคประชาชนภายใต้แนวทางของนโยบายเฉพาะเช่น สภาพัฒนาการเมืองและสภาองค์กรประชาชน ทำให้เกิดการกำหนดกรอบของนโยบายที่รอบด้านและเป็นองค์รวมมากกว่าที่จะเฉพาะเจาะจงลงไปว่า เป็นเรื่องทางการเมืองและการบริหารแต่เพียงอย่างเดียว โดยให้ความสำคัญต่อฐานคติในการพัฒนาด้านการเมืองการบริหารควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งนี้ โดยการจัดตั้งสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติขึ้น ซึ่งถือได้ว่าเป็นกลไกที่จะทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมบรรลุเป้าหมายโดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับการมีส่วนร่วมในการผลักดันนโยบาย ซึ่งตอบสนองความต้องการภาคประชาชนอย่างแท้จริง แต่สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ความร่วมมือระหว่างภาคีทุกภาคส่วนโดยเฉพาะหน่วยงานราชการ ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบของระบบการบริหารราชการแผ่นดินและข้อกำหนดต่างๆที่สนับสนุนและส่งเสริมการปฏิบัติงาน ทำให้ระบบบริหารราชการแผ่นดินมีอำนาจในพื้นที่ของตนอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัด ดังนั้น การดำเนินงานใดๆในเชิงพื้นที่จึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงกรอบของระเบียบบริหารราชการแผ่นดินได้ แต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับบริบทขององค์กรภาครัฐซึ่งเน้นการนำหลักคุณธรรมและจริยธรรมมาใช้ในการบริหาร และดำเนินกิจกรรมต่อภาคประชาชนดังกล่าวโดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะเป็นหลัก(หลักพิจารณาเชิงรัฐศาสตร์) แทนการใช้หลักกฎหมายและระเบียบอย่างเคร่งครัด(หลักพิจารณาเชิงนิติศาสตร์)เพียงอย่างเดียว
ประเด็นที่พิจารณาข้างต้นทำให้เกิดความน่าสนใจที่เกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลกลางในการส่งเสริมความเข้มแข็งทางการเมืองภาคประชาชนคือ นโยบายรัฐบาลกลางมีการแบ่งแนวคิดออกเป็นสองหลักแนวคิด คือแนวความคิดที่เน้นน้ำหนักไปที่การมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยจัดให้มี 1) สภาพัฒนาการเมืองดำเนินงานภายใต้สถาบันพระปกเกล้าซึ่งมีหน้าที่ในการส่งเสริม สนับสนุนความรู้ความเข้าใจ การมีส่วนร่วมในกระบวนการทางการเมืองทุกระดับ 2) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนภายใต้ความร่วมมือกับตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตัวแทนจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตัวแทนจากกรมการพัฒนาชุมชนและตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจการคลัง มีหน้าที่ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและองค์กรประชาชน 3) แผนแม่บทในการพัฒนาการเมืองซึ่งจัดทำขึ้นโดยสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาการเมืองภาคประชาชน 4) สภาองค์กรประชาชน ซึ่งมีตัวแทนจากองค์กรภาคประชาชนที่เข้าจดทะเบียนต่อกำนัน/ ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อสถานภาพที่เป็นทางการ และมีสิทธิที่จะส่งตัวแทนเข้าไปมีส่วนร่วมในสภาองค์กรประชาชน เป็นตัวแทนเข้าไปมีส่วนร่วมปรึกษาหารือในนโยบายต่างๆ และมีส่วนร่วมในกิจกรรมการวางแผนร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อสนองตอบต่อความต้องการที่แท้จริงของประชาชนในชุมชน นอกจากนั้น สภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล สามารถปรึกษาหารือเพื่อคัดเลือกตัวแทนเข้าร่วมในเวทีแสดงความคิดเห็นและปรึกษาหารือในกิจกรรมโครงการและ/หรือนโยบายทั้งในระดับจังหวัดและระดับชาติ
แนวคิดที่นำไปสู่หลักการดำเนินการ ซึ่งเน้นการพัฒนาการเมืองนำไปสู่การวิพากษ์ในหลายประเด็น ทั้งที่เป็นประเด็นโต้แย้งและสนับสนุนเช่น การวิพากษ์นโยบายพัฒนาการเมืองเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2551 ณ มหาวิทยาลัยธรรม ศาสตร์ ในประเด็นโต้แย้ง มีความเห็นว่าแนวนโยบายและกฎหมายพัฒนาการเมืองจะนำไปสู่การหาผลประโยชน์ของภาครัฐและฝ่ายการเมืองเนื่องจากกฎหมายหรือพ...สภาพัฒนาการเมืองถูกโยงไว้กับนักการเมืองและสถาบันทางการเมือง ประเด็นสนับสนุนมีความเห็นว่า สภาพัฒนาการเมืองเป็นสภาของพลเมืองที่ภาคประชาชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมกำหนดทิศทางการเมืองของประเทศได้ แต่อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวต้องกำหนดไว้เพื่อเปิดช่องให้ประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมและส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้วัฒนธรรมทางการเมืองที่ดี 
อีกแนวคิดหนึ่ง เน้นความสมดุลทั้งด้านการเมือง การบริหาร เศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากถือว่า การพัฒนาทั้งหมดดังกล่าว จำเป็นต้องกระทำควบคู่กันไป  แนวคิดนี้สร้างจากฐานคติซึ่งอยู่ภายใต้การพัฒนาของสำนักงานคณะกรรมการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และถือว่าสอดคล้องต่อฐานคติของการพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง แนวทางนี้เน้นองค์กรประชาชนซึ่งได้แก่ กลุ่ม/องค์กรประชาชน/องค์กรเครือข่ายและภาคครัวเรือน ซึ่งองค์กรประชาชนเหล่านั้นจะมีสถานภาพที่เป็นทางการหรือไม่เป็นทางการก็ได้  นโยบายการพัฒนา เน้นการมีส่วนร่วมด้านเศรษฐกิจและสังคมและการเมืองการบริหาร โดยมีองค์กรอิสระคือ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมฯ มีหน้าที่ประสานกับชุมชนและหน่วยงานทุกภาคส่วน เพื่อทำให้เกิดการพัฒนาไปสู่การพึ่งพาตนเองของชุมชน ประเด็นหลักที่แนวคิดนี้ให้ความสำคัญคือ การทำให้ชุมชนมีความสามารถในการบริหารจัดการด้วยตนเอง สามารถพึ่งพาตนเองโดยเฉพาะการวางแผนชุมชน การปฏิบัติตามแผนชุมชน มีพลังผลักดันนโยบาย สามารถตรวจสอบกรทำงานของภาครัฐ ภาคการเมือง และมีความสามารถในการประสานกับทุกภาคส่วนได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุดทั้งสองแนวคิดค่อนข้างจะประสานกันได้ในระดับชุมชน และนำไปสู่ประโยชน์สูงสุดต่อภาคประชาชนได้ในอนาคต
หากพิจารณาข้อกำหนดของนโยบายและกฎหมายของทั้งสองด้าน จะเห็นถึงความ สัมพันธ์ของสองแนวคิดที่มาจากนโยบายพัฒนาการเมืองและนโยบายที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมืองการบริหารจัดการโดยภาคประชาชนเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน(แผนภาพที่ 1) ความสัมพันธ์ดังกล่าวจะทำให้เกิดกระบวนการบูรณาการการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การบริหารจัดการตนเองของภาคประชาชนเข้าไว้ด้วยกันภายใต้ข้อ กำหนดของกฎหมายรัฐธรรมนูญและนโยบายเฉพาะซึ่งได้แก่ กฎหมายสภาพัฒนาการเมือง แผนพัฒนาการเมืองและกฎหมายสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ซึ่งจะทำให้กลุ่ม/องค์กรประชาชนได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการและได้ รับสิทธิตามกฎหมาย สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมโดยระบบตัวแทน กล่าวคือ สามารถส่งตัวแทนเข้าไปมีส่วนร่วมในสภาองค์กรชุมชนที่จัดตั้งตามกฎหมายหรือพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน ซึ่งจะทำให้ภาคประชาชนเรียนรู้กระบวนการมีส่วนร่วมทางการเมืองและวัฒนธรรมทางการเมืองที่สามารถเข้าไปมีบทบาทในด้านการบริหารจัดการเพื่อสนองความต้องการของตนเองในกระบวนการวางแผนชุมชนซึ่งอยู่ภายใต้แนวนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมในการพัฒนาตนเองเพื่อมุ่งแก้ไขปัญหาความยากจนทั้งในระดับกว้างและระดับพื้นที่เฉพาะ เนื่องจากแผนชุมชนจะมีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาในระดับ ชุมชน ท้องถิ่น จังหวัด ภูมิภาคและระดับประเทศ โดยสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจัดตั้งศูนย์ประสานงานในระดับจังหวัดเพื่อรับฟังปัญหาและข้อร้องเรียนต่างๆทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมเพื่อส่งเสริมให้ภาคประชาชนเกิดความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเอง มีพลังผลักดันนโยบายสามารถสนองความต้องการที่แท้จริงของตน ทั้งนี้ภายใต้นโยบายแก้ไขปัญหาความยากจนและนโยบายการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการวางแผนชุมชนโดยเน้นกลุ่ม/องค์กรประชาชนทุกกลุ่ม ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการหรืออยู่นอกกรอบของนโยบายพัฒนาการเมือง ประการสำคัญ แนวคิดของนโยบายทั้งสองด้านต่างก็กระทำภายใต้แนวนโยบายเศรษฐกิจพอเพียง ดังนั้น การมีจริยธรรมและคุณธรรมทางการเมือง การบริหารจัดการตนเองที่มุ่งให้เกิดขึ้นจากการเรียนรู้วัฒนธรรมทางการเมืองที่ดีของภาคประชาชนภายใต้แนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นอกจากจะให้ความสำคัญต่อประเด็นการสร้างจริยธรรมและคุณธรรมตามแนวคิดทุนทางสังคมแล้ว ยังให้ความสำคัญต่อการสร้างสมดุลทั้งในการดำเนินชีวิตประจำวัน การเมือง การบริหาร การเศรษฐกิจและสังคม โดยที่นอกจากประชาชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองแล้ว ยังสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในด้านอื่นๆเช่น สิ่งแวดล้อม การศึกษา การดำเนินกิจกรรมด้านเศรษฐกิจ ฯลฯ เพื่อให้เกิดสมดุลทุกด้านและสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมีคุณภาพและยั่งยืน แนวทางดังกล่าวสอดคล้องต่อแนวความคิดของ อนันต์ อนันตกูล (2546) ซึ่งได้นำเสนอไว้ในช่วงแรกและใช้เป็นฐานคติการในศึกษานโยบายของรัฐบาล
การพิจารณานโยบายในการส่งเสริมความเข้มแข็งภาคประชาชนด้านการเมืองการบริหารของรัฐบาลทั้งในเชิงนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ พบข้อจำกัดของนโยบายหลายประการซึ่งข้อจำกัดดังกล่าวเป็นปรากฏการที่มีและดำรงอยู่โดยเฉพาะในท้องถิ่นชนบท อย่างไรก็ตาม นอกจากข้อจำกัดของนโยบายของรัฐบาลที่พบจากการพิจารณาดังกล่าว ยังพบว่านโยบายจากส่วนกลางยังพอมีสาระของแนวทางที่สามารถเอื้อต่อการส่งเสริมความเข้มแข็งภาคประชาชนด้านการเมืองการบริหารอยู่หลายประการเช่น
1. การรับรองสิทธิในการมีส่วนร่วมทั้งจากกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายพัฒนาการเมือง ตลอดจน กฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดินที่กำหนดให้ภาครัฐจัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมให้แก่ภาคประชาชนในท้องถิ่น
2. การกำหนดให้ภาครัฐจัดดำเนินการส่งเสริมความเข้มแข็งด้านต่างๆแก่ภาคประชาชนเช่น การให้การศึกษา การส่งเสริมเครือข่ายภาคสังคม การสนับสนุนให้เกิดการตัดสินใจด้วยตนเอง การสนับสนุนเชิงวิชาการเพื่อส่งเสริมการวิจัย ฐานข้อมูลในระดับชุมชน เพื่อส่งเสริมจิตสำนึกและวัฒนธรรมประชาธิปไตย
3. ระบบการบริหารที่กำหนดให้มีการตรวจสอบประเมินผลและการสร้างตัวชี้วัดผลสำเร็จในการดำเนินงาน ซึ่งกล่าวได้ว่าจะมีผลต่อการส่งเสริมความเข้มแข็งด้านการเมืองการบริหารของภาคประชาชนได้ทางหนึ่ง
4. การได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนทั้งด้านการดำเนินกิจกรรม การบูรณาการและงบประมาณด้วยการประสานระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน หน่วยงานวิชาการและองค์กรพัฒนาเอกชนทั้งในแนวดิ่งและแนวราบเพื่อให้เกิดการเรียนรู้จากกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อภาคประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้
5. การบริหารงานภาครัฐด้วยหลักธรรมมาภิบาลและการกำหนดให้มีการเปลี่ยนแปลงบทบาทภาครัฐจากการกำกับควบคุมไปเป็นการอำนวยความสะดวกและการให้การบริการ จะสามารถส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมในด้านต่างๆของภาคประชาชนได้เป็นอย่างดีนไปอย่าง
6. การส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมให้เกิดในภาคประชาชนเพื่อให้เกิดความสอด คล้องต่อการพัฒนาและส่งเสริมการมีส่วนร่วมตามวัฒนธรรมประชาธิปไตย รวมทั้งความสำเร็จในการพัฒนาและส่งเสริมด้านอื่นๆ
7. การเน้นความสำคัญในการสนับสนุนส่งเสริมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองการบริหาร โดยเฉพาะการตัดสินใจด้วยตนเอง การวางแผนชุมชน การบริหารกิจกรรมโครงการของชุมชน เพื่อสร้างความสมดุลในการพัฒนา จะเป็นปัจจัยทีเอื้อต่อการส่งเสริมภาคประชาชนเพื่อความสามารถในการการพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

บรรณานุกรม
กรมกิจการพลเรือนทหาร กองบัญชาการทหารสูงสุด.2550. เศรษฐกิจพอเพียง: ปรัชญาชี้ถึงแนวทางการดำรงชีวิต.พิมพ์ครั้งที่2.
กรุงเทพฯ.
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ(สำนักงาน กปร.). HTTP: http:// www.
rdpb.go.th. 20 พฤศจิกายน.2550.
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์. 2550. เสวนางานมหกรรมประชาธิปไตย:ปฏิญญาพัฒนาการเมืองไทย.2550. HTTP: http://www.
Kanmuang. org/ NT/data/1/0182-1.html.20 พฤศจิกายน.2550.
กระทรวงมหาดไทย.2551. แผนชุมชน. โครงการประเมินคุณภาพแผนชุมชนประจำปี 2551.หนังสือเวียน.ที่ มท 0416/ว 1318-
131929 ก.ค.51 HTTP:http://www.cddweb.cdd.go.th/chumchon/express/ 0416_1318.pdf. 12สิงหาคม 2551.
เครือข่ายองค์การบริหารส่วนตำบล. 2550.พัฒนาการเครือข่าย อบต.เพื่อประชาชน. HTTP: http:// www. oknation.net /
blog/jintavaree. 20 พฤศจิกายน 2550.
คณะอนุกรรมการการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง.2549. เศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร. พิมพ์ครั้งที่4. กรุงเทพฯสำนักงานคณะ
กรรม การพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. 
จุฑาทิพย์ ภัทรวาทและคณะ. 2550. การพัฒนาขบวนการสหกรณ์ในพื้นที่ 36 จังหวัด.HTTP:http:// www. cai.ku. ac. th/ abstract.
htm. 20 พฤศจิกายน 2550.
ชาคริต โภชะเรือง.2549. กระบวนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา. HTTP: http://www. Khlong-u-
taphao.com/public.
ตระกูล มีชัย. 2545.การกระจายอำนาจในประเทศไทย:ความก้าว หน้าและข้อพิจารณา. เอกสารประกอบการประชุมวิชาการครั้ง
                ที่ 3. บทที่ 3 หน้า.31-63.สถาบันพระปก เกล้า. นนทบุรี.
ดำรง วัฒนา.2545. การติดตามและการประเมินผลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น.สถาบันพระปกเกล้า(การประชุมวิชาการสถาบัน
พระปกเกล้าครั้งที่ 3)บทที่ 4 หน้า 65-95.สถาบันพระปกเกล้า.นนทบุรี.
ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์.2545. ประสบการณ์กระจายอำนาจของนานาชาติ:บทสรุปจากการพัฒนา.สถาบันพระปกเกล้า (การประชุม
วิชาการสถาบันพระปกเกล้าครั้งที่ 3)บทที่ 4 หน้า 519-520.สถาบันพระปกเกล้า.นนทบุรี.

ปรียานุช พิบูลสราวุธ. 2544. ความเปราะบางทางเศรษฐกิจสังคม:ประสบการณ์จากประเทศไทย.ในกรอบแนวคิดทางทฤษฎี

เศรษฐศาสตร์ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง. วรรณกรรมปริทัศน์ ที่เกี่ยวข้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง.กลุ่พัฒนากรอบแนวคิดทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง.กรุงเทพฯ

พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช. 2517. พระราชดำรัส 4 พฤศจิกายน. บริษัทอมรินทร์ปริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง
จำกัด. กรุงเทพฯ.
พระราชบัญญัติ.2534. ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน.ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๐๘ ตอนที่ ๑๕๖ หน้า 1 วันที่ ๔ กันยายน
๒๕๓๔.
พระราชบัญญัติ. 2551. สภาพัฒนาการเมือง. ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๒๕ ตอนที่ ๒๔ ก ๒๙ มกราคม ๒๕๕๑.
พลาธิป เสรีพิทักษ์.2551. บทบาทสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ:คานอำนาจหรืออยู่ใต้อำนาจ. บทความใน ผู้จัดการ
รายสัปดาห์ ปีที่2 ฉบับที่1110 วันที่ 10-16 มีนาคม 2551. HTTP:http: //www.2. nesac. go.th/ document / show/1.php Dd.d=08030002.11 สิงหาคม 2551.
ไพสิฐ พาณิชย์กุล.2544. หลักรัฐศาสตร์และหลักนิติศาสตร์.HTTP:http//www.ecurriculum. mu.ac.th/health/th/m1-3/health_
art/articlepage1.htm. 11 สิงหาคม 2551.
ไพสิฐ พาณิชยฺกุล. ความเป็นธรรมทางสังคมกับความเป็นธรรมทางกฎหมาย. HTTP:http//  www. lawonline. co. th/ Document/
midnightu23.doc.18 กรกฎาคม 2551.
ฑิติยา สุวรรณะชฎ.ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์. ประชาสังคมในกระบวนการพัฒนาทางสังคมของสังคมไทย.สถาบัณพัฒนบริหาร
ศาสตร์.กรุงเทพฯ
ฐิติพล ภักดีวานิช. 2550. การสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคประชาชนด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง. สำนักงานกองทุนสนับสนุน
การวิจัย ฝ่ายชุมชนและสังคม. ม.อุบลราชธานี.อุบลราชธานี.
ฐิติพล ภักดีวานิช.2550.“การสร้างความเข้มแข็งให้ภาคประชาชนด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง,” ใน วิเคราะห์นโยบายมหภาค
ของรัฐในมิติต่างๆจากปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (2540-2549). เล่มที่ 2. อภิชัย พันธเสน บรรณาธิการ. น.223-284.กรุงเทพฯ. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.).   
ธงชัย วินิจจะกุล .2548. ข้ามให้พ้นประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลา.ปาฐกถา 14 ตุลา ประจำปี 2548 : มูลนิธิ 14 ตุลา.กรุงเทพฯ .
วัฒนา วงษ์เกียรติรัตน์.2544. ยุทธศาสตร์การบริหารแผนงานในองค์กรภาครัฐ.คณะรัฐศาสตร์.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
กรุงเทพฯ.
ศุภวัฒน์ ปภัสสรากาญจน์.2549. การจัดการและการบริหารสาธารณะสมัยใหม่. คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์.มหาวิทยา
ลัยราชภัฏสวนดุสิต.ศูนย์เอกสารตำรา มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต.กรุงเทพฯ.
ศยามล ไกยูรวงศ์.2550. ร่างกฎหมายสภาองค์กรชุมชน: หัวโขนภาคประชาชน.สำนักข่าวประชาธรรม.HTTP: http://            www.newspm.com. 11 สิงหาคม 2551.
รายงานการวิจัย. 2545. สภาที่ปรึกษาฯ ในความคาดหวังของสังคมไทยและความเชื่อมโยงเครือข่ายภาคประชาชน. สาขา
รัฐศาสตร์มหาวิทยาลัย สุโขทัยธรรมาธิราช.กรุงเทพฯ.
รายงานการวิจัย. 2546. การศึกษาการประสานความร่วมมือระหว่างสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกับเครือข่ายภาค
ประชาชนและการศึกษาผลการพัฒนาตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ. สาขารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมธิ
ราช.กรุงเทพฯ.
ร่องกี้ พลเยี่ยม. 2550. ประเด็นการส่งเสริมความเข้มแข็งภาคประชาชนด้านการเมืองการบริหาร:การพัฒนาการและอุปสรรค
ปัญหา.สัมภาษณ์.11 ต.ค.2550. สำนักงานพัฒนาชุมชนและข้อมูลจังหวัดยโสธร. 
สภาร่างรัฐธรรมนูญ.2550. ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับลงมติ.โรงพิมพ์ตำรวจ.กรุงเทพฯ.
สน รูปสูง.2551.แนวทางการพัฒนาการเมืองภาคพลเมืองและระบอบประชาธิปไตย.เอกสารการสัมมนา. HTTP: http://www.
codi. or. th/index.phpoption=com_content&tash=wiew&id= 1835&_Item. 11 สิงหาคม 2551.
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ.2548. การมีส่วนร่วมของประชาชน.HTTP:http: // www. ryt9. com/
new/ 2005-03-31/2254153. 11 สิงหาคม 2551.
สำนักงานกฤษฎีกา.2550. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย.ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๒๔/ตอนที่ ๔๗ ก/ หน้า ๑/๒๔ ส.ค.
๒๕๕๐.
สำนักวิจัยและพัฒนาสถาบันพระปกเกล้า.2544. ตัวอย่างเทคนิคการมีส่วนร่วมของประชาชนและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง.
สถาบันพระปกเกล้า.กรุงเทพฯ.
สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี.ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์. แผนแม่บทพัฒนาการเมือง: 6 ยุทธศาสตร์หลักในการพัฒนาการ
เมืองไทย. คณะกรรมการเตรียมจัดตั้งสภาพัฒนาการเมืองและยกร่างแผนแม่บทพัฒนาการเมือง.กรุงเทพฯ.
สำนักเลขาธิการนายกรัฐมาตรี.2547.แผนพัฒนาการเมือง. [Online] Available.URL; HTTP: http://spm. thaigov.     go.th/political/index.htm. 11 สิงหาคม 2551.
สำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจ.2547. การดำเนินงานตาม พ.ร.บ.การกำหนดขั้นตอนและแผนการกระจาย
อำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2542.กระทรวงมหาดไทย.
สถาบันนโยบายศึกษา.2551.พ.ร.บ.สภาพัฒนาการเมือง:ใครได้ใครเสีย?.เอกสารสรุปการสัมมนา  22 พฤศจิกายน, 2551.
คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรุงเทพฯHTTP://http: //www. fpps.or.th/index.php. 11 สิงหาคม 2551.สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน.2551. ประกาศเรื่อง. หลักเกณฑ์ วิธีการ แบบ การจดแจ้งการจัดตั้งชุมชนและการจดแจ้งการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบล. ตามพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551.
เสถียร จิรรังสิมันต์. 2549. ความรู้เกี่ยวกับองค์กรเครือข่าย. กลุ่มงานสารสนเทศ.สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ.  
HTTP: http://www.nesac.go.th. 20 พฤศจิกายน 2550.











 




           
 

นโยบายเฉพาะ
 
  (พ.ร.บ.)สภาพัฒนาการเมือง
 
(พ.ร.บ.)สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมฯ
 
ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน
 
                                                                      
กล่องข้อความ:           แผนพัฒนาการเมือง
ศูนย์ประสานงานประจำจังหวัด
 
จังหวัด
 
 
 

       (พ.ร.บ.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน
 
                 
 


แผนพัฒนาของ อบต.
 
         
 


       
องค์กรวิชาการ
(เช่น สกว.)
 
โรงเรียน
 
วัด
 
หน่วยงานเอกชน
 
NGO   
 



         

แผนภาพที่ 1 ความสัมพันธ์ของนโยบายของรัฐบาลกลางกับการส่งเสริมความเข้มแข็งภาคประชาชน





                 

Comments

Popular posts from this blog

วีดิโอการพัฒนาบุคคลและการฝึกอบรม: สถานการณ์จำลอง

หลักรัฐประศาสนศาสตร์ สัปดาห์ที่ 3 16-17 พ.ค.2563

การบริหารการพัฒนา กลุ่ม 391 กองทัพบก Module 1 วันเสาร์ที่ 30-วันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม 2565